บางช้าง TVRC356 ฟื้นพริกในตำนานสมัยร.2


พริกมันบางช้าง TVRC365

เมื่อพูดถึง “พริก” คนไทยยุคก่อนต้องนึกถึง “พริกบางช้าง” ที่ ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ด้วยเป็นพริกที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์...อาหารชาววัง สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จะใช้พริกบางช้าง เพราะมีกลิ่นหอม สีสวยสด และรสชาติเผ็ดไม่มากนัก

แต่มายุคปัจจุบัน พริกบางช้างถูกลืมเลือนไปสิ้น ด้วยการตัดผ่านของถนนทำให้สภาพพื้นที่เปลี่ยนไป แถมซ้ำด้วยธรรมชาติที่แปรเปลี่ยน ความเค็มจากน้ำทะเลรุกเข้าถึงระบบนิเวศของลุ่มน้ำแม่กลอง ทำให้พื้นที่เหมาะสมสำหรับปลูกพริกบางช้างเหลือเพียงน้อยนิด

เพื่อไม่ให้พริกบางช้างสูญหายไป ดร.ธนิต ชังถาวร ผู้ช่วย ผอ.สำนัก งานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เผยว่า ทางโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มอบหมายให้ ดร.สิริกุล วะสี นักวิจัยเชี่ยวชาญ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวบรวมพริกมันบางช้างจากหลายพื้นที่ทั้งใน จ.สมุทรสงคราม จ.นครปฐม และ จ.ราชบุรี มาตั้งแต่ปี 2535

แล้วนำมาคัดเลือกและทดสอบพันธุ์จนสำเร็จ ได้ต้นพันธุ์พริกที่มีคุณภาพดี ปลูกได้ตลอดทั้งปี ใช้ชื่อว่า “พริกมันบางช้าง TVRC365” เป็นพริกชี้ฟ้าพันธุ์ผสมปล่อย ผลใหญ่ เจริญเติบโตแบบพุ่ม ความสูง 55-60 ซม. ความกว้างทรงพุ่ม 55-60 ซม. อายุการออกดอก 55-60 วัน หลังหยอดเมล็ด เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ใน 90-110 วัน ผลอ่อนสีเขียวเข้ม ผิวมัน ผลตรง ปลายผลแหลม ผลชี้ลง ผลสุกสีแดงสด น้ำหนักผล 19-20 กรัมต่อผล ขนาดผลยาว 12-13 ซม. ความกว้างผล 1.6 ซม. ความยาวก้านผล 4-5 ซม.

ลักษณะเด่นเมื่อผลสุก หัวขั้วเล็ก ติดแน่นกับต้น (ขั้วเหนียว) โคนผลใหญ่ ปลายเรียว ผิวเรียบ เนื้อหนา ผิวเรียบมัน ผลอ่อนสีเขียวเข้ม ผลแก่สีแดงจัด ตากแห้งช้า เมื่อเป็นพริกแห้งแล้ว จะมีลักษณะสีแดงสด มันวาว รสไม่เผ็ด มีเนื้อมาก ไส้ใหญ่ (รก) เมล็ดน้อย มีกลิ่นเฉพาะตัว

โดยความเผ็ดของพริกมันบางช้าง เป็นสารในกลุ่มที่เรียกว่า แคปไซซินอยด์ มีความเผ็ดเฉลี่ย 2,743 Scolvill Heat Unit (SHU) จากการวิเคราะห์ผลสุกแดง พบว่ามีความเผ็ดตั้งแต่ 764-5,489 SHU เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์ได้ทั้งพริกสด พริกแห้ง และใช้ในอุตสาหกรรมน้ำพริกแกงสำเร็จรูป

จากความสำเร็จครั้งนี้ ทางคณะ กก.มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) รวบรวมข้อมูลพริกบางช้าง ยื่นขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว.

ข้อมูลจาก
ไชยรัตน์ ส้มฉุน
thairath.co.th/content/506522

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา