ชาวสวนผลไม้เมืองจันทบุรี หมดปัญหาขาดแคลนน้ำ ด้วยบ่อจิ๋วในไร่นา


ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทานที่อาศัยน้ำฝนแต่เพียงอย่างเดียว

นายปรีชา โหนแหยม ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินจันทบุรี สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า จังหวัดจันทบุรีแม้จะมีปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีเฉลี่ยสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ แต่ว่าปริมาณแหล่งกักเก็บน้ำค่อนข้างน้อย ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่ของจังหวัดจันทบุรีทำการเพาะปลูกไม้ผล ที่จำเป็นต้องอาศัยน้ำใช้ในการทำการเกษตรอย่างมาก ดังนั้น ในช่วงฤดูแล้งเกษตรกรส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่อยู่นอกเขตชลประทานจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี ซึ่งเกษตรกรจำนวนหนึ่งก็ได้ช่วยเหลือตนเองโดยการติดตั้งท่อสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำสาธารณะมาใช้ในไร่นาแทน ซึ่งบางรายต้องเดินท่อไกลหลายกิโลเมตร ทำให้ต้นทุนในการใช้น้ำเพื่อทำการเกษตรของเกษตรกรค่อนข้างสูง


กรมพัฒนาที่ดิน ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้จึงได้มีโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน หรือบ่อจิ๋ว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในไร่นา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนโดยเฉพาะยามฤดูน้ำขาดแคลนเช่นนี้ โดยสถานีพัฒนาที่ดินจันทบุรี ได้ดำเนินการขุดบ่อให้เกษตรกรที่แจ้งความประสงค์ขอขุดบ่อไว้กับทางสถานีพัฒนาที่ดินจันทบุรี ได้แล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 บ่อ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรที่ยื่นเรื่องไว้ ซึ่งสถานีพัฒนาที่ดินจันทบุรีก็จะเร่งดำเนินการจัดสรรให้เกษตรกรตามงบประมาณที่ได้รับมาในแต่ละปีตามลำดับต่อไป

แหล่งกักเก็บน้ำเป็นสิ่งจำเป็นของเกษตรกรชาวสวนผลไม้เมืองจันทบุรี เพราะไม้ผลในช่วงที่ใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตนั้นต้องใช้น้ำปริมาณมากผลผลิตจึงจะออกมาสมบูรณ์ หากเกษตรกรอาศัยแต่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยที่เกษตรกรหลายรายก็มีความต้องการพึ่งพิงที่แหล่งเดียวกัน อาจทำให้เกิดการขาดแคลน แต่ถ้าเกษตรกรมีแหล่งน้ำสำรองในไร่นาของตนเองก็จะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวไปได้ ดังเช่น นายประจวบ เสมสฤษดิ์ เกษตรกรชาวสวนผลไม้ บ้านต้นเลียบ หมู่ 6 ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ที่เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร แต่เมื่อได้แหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ก็สามารถแก้ปัญหาให้หมดไป


นายประจวบ เล่าว่า สภาพพื้นที่ของตนเองเป็นที่ราบลุ่ม เดิมใช้ทำนาข้าว ประสบปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝน ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อีกอย่างพอฤดูแล้งก็ประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอกับการใช้ประโยชน์ทั้งในส่วนของนาข้าวและไม้ผลที่ปลูกไว้ เนื่องจากบริเวณนี้ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่าน เมื่อสถานีพัฒนาที่ดินจันทบุรีมีโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ก็ได้ยื่นเรื่องขอเข้าไป โดยมีความต้องการเปลี่ยนนาข้าวส่วนหนึ่งมาเป็นบ่อจิ๋ว เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในไร่นาให้เพียงพอมากขึ้นซึ่งบ่อที่ได้มีขนาดความจุ 1,260 ลูกบาศก์เมตร มีขนาดความกว้าง 17 เมตร ยาว 28 เมตร ลึก 4 เมตร มีคันดินเพื่อความมั่นคง และได้ปลูกหญ้าแฝกบนคันดินล้อมรอบเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน นอกจากนี้ ดินที่ขุดขึ้นมาก็ได้มาถมไว้บริเวณโดยรอบมีการปลูกถั่วพร้าเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน

ตั้งแต่ขุดบ่อจิ๋วไว้ใช้ตั้งแต่ปี 2555 ก็ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำที่กักเก็บไว้เรื่อยมา ที่สำคัญคือพื้นที่บริเวณที่ขุดมีน้ำซึมใต้ดิน ทำให้มีน้ำตลอดเวลา ในช่วงฤดูฝนสามารถกักเก็บน้ำเต็มความจุ ในช่วงฤดูแล้งปริมาณน้ำจะลดลงไปประมาณครึ่งสระ แต่ปริมาณน้ำก็ยังเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ โดยน้ำในบ่อนี้ได้ใช้เพื่อการเกษตร ได้แก่ สวนไม้ผล มังคุด เงาะ ทุเรียน สวนยางพาราและนาข้าว ส่วนดินที่ขุดขึ้นมาจากบ่อก็ปรับสภาพจนสามารถปลูกกล้วย และข้าวโพด นอกจากนี้ ก็ได้เลี้ยงปลาหมอไทยและปลานิลในบ่อ สามารถสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ซึ่งตนเห็นความสำคัญของบ่อน้ำเพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้รอบด้าน จึงพยายามดูแลรักษาบ่อน้ำให้สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดินจันทบุรีอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล ผลงานแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานดีเด่น ประจำปี 2557 ของเขตภาคกลางและภาคตะวันออก

โครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานของกรมพัฒนาที่ดิน แม้เกษตรกรจะต้องลงทุนสมทบบ่อละ 2,500 บาท แต่สิ่งที่ได้กลับมานับว่าคุ้มค่า เพราะไม่เพียงแต่มีแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในไร่นาอย่างเพียงพอแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น อย่างกรณีสวนผลไม้เมืองจันทบุรีถ้ามีน้ำเพียงพอ ผลผลิตที่ได้ก็เพิ่มขึ้น โอกาสที่เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นก็มีตามไปด้วยเช่นกัน

ข้อมูลจาก naewna.com/local/163861

Popular posts from this blog

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา