ปล่อยไก่ กำจัดศัตรูพืช ใน ผักอินทรีย์


“ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สิ่งที่ได้กลับมาอย่างเห็นเด่นชัด โครงสร้างของดินดีมาก ค่า OM ปริมาณอินทรียวัตถุในดิน จากเดิมมีค่าไม่ถึง 3 OM ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 5–6 OM ค่าพีเอชในดิน เดิมมีค่า 5.4 ตอนนี้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 6–6.5 PH ดินจะร่วนมาก ทำให้พืชผักเจริญเติบโตและงอกงามดี”

นายคณาวุฒิ สุทธิเนียม นักวิชาการเกษตร สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่เน้นให้เกษตรกรในพื้นที่บ้านเมืองอาง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ส่งเสริมในโครงการหลวงอินทนนท์ โดยมาเริ่มตั้งแต่ปี 2545 เป็นปีแรกที่โครงการหลวงได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพในพื้นที่แห่งนี้ ตามคำร้องขอของชาวเขาเผ่าปกากะญอในพื้นที่ โดยกิจกรรมหลักที่ส่งเสริมให้สร้างอาชีพ คือ การปลูกผักอินทรีย์ พร้อมกับแนะนำให้เกิดการรวมตัวจัดตั้งเป็น กลุ่มผู้ผลิตพืชอินทรีย์ ปัจจุบันมีสมาชิก 128 ราย สมาชิกของกลุ่มผู้ผลิตพืชอินทรีย์จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการปลูก การจัดการดูแล สร้างโรงเรือนปลูกผัก ที่มีความกว้าง 6 เมตร ยาว 30 เมตร รายละ 2 โรง


เริ่มการเตรียมดินก่อนปลูก ให้ไถพลิกดิน และตากแดด การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชผัก จะเน้นผสมผสาน ในหลายๆวิธี ตั้งแต่ “ปล่อยไก่” เข้าไปไว้ในโรงเรือน 5-10 ตัวต่อโรงเรือน นาน 2 วัน 2 คืน เพื่อให้ไก่เข้าไปจิกกินแมลงศัตรูพืช แต่ถ้ายังมีแมลงเข้าไปรบกวน จึงจะใช้สมุนไพรพื้นบ้าน เช่น สะเดา หางไหล ฉีดพ่น หลังนำไก่ออกมา

“ส่วนหญ้าเข้าไปงอกในโรงเรือนปลูกผัก มีสาเหตุอย่างเดียว เมล็ดหญ้าติดมากับมูลโคที่นำมาทำเป็นปุ๋ยคอก เราแก้ปัญหาโดยนำมูลโคไปหมักไว้ก่อน อย่างน้อย 3 เดือน เมื่อหญ้างอกขึ้นมา จัดการถอนออก ก่อนนำไปใช้ในโรงเรือน”

สำหรับชนิดของผักที่ปลูกมี 8 ชนิด เช่น ผักฮ่องเต้ ผักเบบี้ฮ่องเต้ ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง เบบี้แครอท ถั่วแขก ปวยเล้ง และผักกาดหอม โดยตารางการปลูกผักแต่ละชนิดนั้น ทางสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์จะแนะนำว่า ช่วงไหนต้องปลูกผักอะไร เพื่อให้ตรงกับช่วงความต้องการของตลาด ขายทั้งภายในประเทศและส่งประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันกำลังการผลิตผักไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เพราะได้รับรองคุณภาพเกษตรอินทรีย์ ทั้งจากกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.)

สิ่งที่เน้นมากคือ หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วต้องนำปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยคอกที่ผ่านการหมักมา 3 เดือน ใส่โรงเรือนละ 20 กระสอบ โดยจะใส่ในช่วงเตรียมดิน 10 กระสอบ จากนั้นอีก 7 วัน ใส่อีก 10 กระสอบ...เพียงเท่านี้ จะสามารถเริ่มปลูกพืชใหม่ลงแปลงได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 09-0880-1089.


ข้อมูลจาก
- ไชยรัตน์ ส้มฉุน
- thairath.co.th/content/502999

Popular posts from this blog

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา