ข้าวอินทรีย์เมืองน้ำดำ : ก้าวสู่ระดับสากล เกษตรกรเข้มแข็ง บนมาตรฐานความปลอดภัย


ข่าวดีที่ได้รับจากการประชุมสัมมนาสรุปผลการปฏิบัติงานโครงการพัฒนาประสิทธิภาพและการผลิตข้าว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Niche Market) และ (Mass Market)  ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ ที่มีนายสิริรัฐ  ชุมอุปการ  รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธาน  โดยผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาครั้งนี้ เป็นเครือข่ายผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ  และเกษตรกรรายใหม่ที่สนใจการทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ ในพื้นที่ 18 อำเภอ ของ จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 600  คน   กับการส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์อย่างเป็นระบบ  ที่มีองค์กรภาครัฐร่วมมือ และผนึกกำลังในการสร้างระบบส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม  มีผู้ประสานงานหลักอย่างสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์เป็นแม่งานใหญ่  เพราะนอกเหนือการรับรองมาตรฐาน GI  ของข้าวเขาวงแล้ว  ขณะนี้มีเกษตรกรในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ผ่านการรับรองการผลิตข้าวอินทรีย์ระดับสากลตามมาตรฐาน IFOAM  จากบริษัท ไบโออะกรีเสิร์ช (ไทยแลนด์) จำกัด นับเป็นก้าวย่างสำคัญของเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ ที่จะก้าวสู่ระดับสากล

สำนัก  กายาผาด  เกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จ.กาฬสินธุ์  กล่าวว่า ในการเพิ่มขีดความสามารถในการการผลิตข้าวเพื่อการตลาดในปีงบประมาณ 2557  ที่ผ่านมา  ทั้ง จ.กาฬสินธุ์  มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด  967  ราย  ซึ่งได้มีการยื่นขอการตรวจรับรองมาตรฐาน IFOAM จาก บริษัท ไบโออะกรีเสิร์ช (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 601  ราย  ล่าสุดผ่านการรับรองการผลิตข้าวอินทรีย์ระดับสากลแล้ว 54 ราย ผ่านมาตรฐานการรับรองในระยะปรับเปลี่ยนจำนวน 204 ราย  นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผลิตข้าวเขาวงที่ผ่านการรับรองจาก GI อีก 300  กว่าราย  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการผลิตข้าวในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นที่ยอมรับในทุกระดับ  และสำหรับมาตรฐานสากลที่ได้รับล่าสุดขณะทางหน่วยงานใหญ่จากประเทศอิตาลี  กำลังเตรียมอบใบรับรองอย่างเป็นทางการสำหรับเกษตรกรที่ผ่านเกณฑ์  เป็นความภาคภูมิใจที่มาพร้อมกับการตื่นตัวและดึงความสนใจในการทำนาข้าวอินทรีย์ในระบบสากล” เกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าว

เกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์  กล่าวอีกว่า  ข้าวเขาวงกาฬสินธุ์  มีมาตรฐาน GI  เป็นที่รับรองถึงคุณภาพของข้าว  โดยข้าวเขาวงจะมีพื้นที่ปลูกเฉพาะในเขต อ.เขาวง อ.กุฉินารายณ์ และ อ.นาคู  ขณะที่การส่งเสริมนาข้าวที่ปลอดภัยในรูปแบบข้าวอินทรีย์  ทางจังหวัดได้ดำเนินการส่งเสริมครอบคลุมทั้ง 18 อำเภอ   แต่จะเลือกคัดสรรกลุ่มเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน  มีความพร้อมในการทำนาอินทรีย์จริง ๆ เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพและตรงตามความต้องการของตลาด  ที่มีความต้องการข้าวอินทรีย์มากขึ้นเรื่อย ๆ   ทางสำนักงานฯ จะเน้นการส่งเสริมกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด  และเพิ่มศักยภาพในการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาผลิตข้าวอินทรีย์ให้มากขึ้น โดยมุ่งเป้าการเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยที่สำคัญของภูมิภาค

สำหรับมาตรฐาน IFOAM  มีเงื่อนไขสำคัญคือการทำการเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้ปัจจัยผลผลิตภายนอก  หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์  ทั้งปุ๋ย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์  โดยต้องประยุกต์ใช้หลักธรรมชาติมาใช้ในการเพิ่มผลผลิต  รวมถึงการพัฒนาความต้านทานต่อโรคของพืชและสัตว์เลี้ยง  นอกจากนี้แล้วพื้นที่ที่จะทำเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานของ IFOAM อย่างสมบูรณ์แบบนั้นในดินและน้ำจะต้องไม่มีสารเคมีตกค้าง  เป็นพื้นที่ที่ปลอดการทำเกษตรเคมีไม่น้อยกว่า 3 ปี  ที่ดอน  โล่งแจ้ง อยู่ห่างจากเขตและโรงงานอุตสาหกรรม  พื้นที่ปลูกพืชที่ใช้สารเคมี  ทั้งนี้ระบบของ IFOAM  ถูกพัฒนาขึ้นโดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements - IFOAM)  ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2535  ให้บริการรับรองแก่หน่วยตรวจรับรองอินทรีย์ต่าง ๆ ทั่วโลก  เป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร  ซึ่งเป็นการรับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์ IFOAM โดย IOAS  ซึ่งจะยังทำให้เกษตรกรไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์เพราะเป็นระบบที่ตรวจประเมินแบบปีต่อปี

วินิจ  ถิตย์ผาด  เจ้าของสวนจารุวรรณ  หนึ่งในเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน IFOAM  กล่าวว่า  ก่อนหน้านี้ข้าวอินทรีย์ของสวนจารุวรรณ ได้รับการการันตีข้าวอินทรีย์ของ  Organic Thailand  รหัสรับรอง TAS : 4535   และสำหรับมาตรฐานสากลอย่าง IFOAM  เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่แปลงนาอินทรีย์ของเกษตรกรกาฬสินธุ์ เป็นการก้าวกระโดดของข้าวชาวนา ที่มองถึงกรเพิ่มมูลค่าข้าวให้ถูกที่ถูกทางตามพละกำลังของผู้ปลูก ที่ยึดต้นแบบการทำเกษตรผสมผสาน  ทั้ง 1 ไร่ 1 แสน  และเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    ที่นำมายึดเป็นต้นแบบการทำเกษตรและการดำเนินชีวิตอย่างทุกวันนี้

สูตรสำเร็จของสวนจารุวรรณ  ในการทำนาข้าวอินทรีย์จนได้รับมาตรฐานระดับสากลไม่ซับซ้อนวุ่นวาย เพราะได้ริเริ่มการทำสวนอินทรีย์มานานของพื้นที่สวนทั้งหมด  84 ไร่  ปลูกพืชอินทรีย์หลากหลายทั้งพืชสวนพืชไร่และนาข้าวตั้งแต่ปี 2552 หลังเกษียณอายุราชการในตำแหน่งเกษตรอำเภอ  แนวคิดการทำสวนอินทรีย์และนาข้าวมาพร้อม ๆ กันจากการศึกษาและเรียนรู้ด้านการเกษตรมาตลอดทั้งชีวิต  มีแนวกันชนเป็นพืชสวนด้วยการปลูกมะม่วงพันธุ์ต่าง ๆ  แนวกันชนอีกชั้นเป็นตะไคร้  หญ้าแฝก  และกล้วยน้ำหว้าปลูกสลับกันไป  ขณะที่นาข้าวจะมีแนวคันดินสูง 3 เมตรและมีพืชเป็นแนวกันชนอีก 3 ชั้น โดยกันพื้นที่ปลูกข้าวในสัดส่วน 10 ไร่  เป็นข้าว 5 สายพันธุ์ สายพันธุ์ละ 2 ไร่

ประกอบด้วยข้าวหอมมะลิ 105 ที่จะเป็นข้าวกล้องหอมมะลิ  ข้าวเหนียวดำ  ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมมะลิดำ  และข้าวไรซ์เบอร์รี่  ที่จะปลูกเป็นข้าวนาปรัง  มีผลผลิตเป็นข้าวเปลือกเฉลี่ยที่ 520 กก.ต่อไร่ เมื่อสีเป็นข้าวสารจะได้ 75 % ของข้าวเปลือกเว้นแต่ข้าวไรซ์เบอร์รี่เมื่อสีเป็นข้าวสารแล้วได้ผลผลิตที่  55 % ต่อไร่ ได้ผลกำไรจากการขายข้าวอินทรีย์กก.ละ 80 บาท  เฉลี่ย  56,000  บาทต่อไร่    ขณะที่ต้นทุนการปลูกข้าวอยู่ที่ 2,600 บาทต่อไร่ ความสำเร็จของการขายข้าวให้เป็นราคาอยู่กับการทำข้าวที่มีมาตรฐาน และการแพ็คกิ้งข้าวให้เป็นที่ดึงดูของตลาด  อย่างสวนจารุวรรณจะมีข้าว  5 พลัง  ข้าว 3 ดี  และข้าวสี่พระยา  ซึ่งเป็นการนำเอาข้าวคุณภาพแต่ละชนิดมาแพ็คกิ้งขายในถุงเดียวกันที่จะง่ายต่อการนำไปบริโภค แต่ได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน  เป็นวิธีของการ “กินข้าวเป็นยา ทดแทนการทานยาเป็นข้าว

วินิจ  ถิตย์ผาด  อธิบายขั้นตอนการปลูกข้าวให้ฟังว่า  นอกเหนือจากการไถกลบตอซังข้าวแล้ว  สูตรเด็ดที่ฉีดพ่นในนาข้าว  เป็นน้ำหมักที่ใช้ใบสาบเสือ  ออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย  หน่อกล้วยน้ำหว้า เป็นตัวเร่งการเจริญเติบโต  และตะไคร้หอม พืชไล่แมลงต่าง ๆ น้ำหมักสูตรนี้จะฉีดพ่นในแปลงนาข้าวในระหว่างการไถกลบตอซังข้าวระยะเวลา 15 วัน – 1 เดือน  จากนั้นจะหว่านปอเทืองรอบแรกใช้อัตราส่วน 55 ก.ก.ต่อ 1 ไร่ ระยะเวลา 45 วัน ไถกลบรอบแรก  ส่วนนี้จะทำให้ดินมีไฮโดรเจนเพิ่มขึ้น 100 ก.ก.ต่อไร่  และหว่านปอเทือกอีกครั้งใช้ระยะเวลา 45 วันไถกลบ  ส่วนนี้จะทำให้ไฮโดรเจนเพิ่มขึ้นอีกเป็น  200 ก.ก.ต่อไร่  เมื่อดินพร้อมแล้วจึงหว่านกล้า  และปักดำนาโดยใช้แรงคน  เป็นการทำนาแบบประณีต  ส่วนการดูแลต้นข้าวจะไม่มีใส่ปุ๋ยเพิ่มเติม  แต่จะควบคุมระบบน้ำ  “ข้าวไม่ใช่พืชน้ำ  แต่เป็นพืชทนน้ำ”

“เมื่อมีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล  หนอนกอลงนาข้าวไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงอื่น ๆ เพียงแค่ปล่อยระบายน้ำให้นาแห้งแค่นี้โรคในนาข้าวก็หายไป  และเมื่อข้าวเจริญเติบโตและกำลังตั้งท้องก็จะปล่อยน้ำเข้านาข้าวระดับ 5 – 10 ซม. เพื่อบำรุงให้รวงข้าวมีความอุดมสมบูรณ์ นับเวลาเมื่อข้าวออกรวงไปอีก 25 วันเป็นช่วงข้าวพลับพลึงเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต  และเตรียมออกจำหน่ายตามท้องตลาด  โดยข้าวจากสวนจารุวรรณขายได้มากถึงปีละ 32 ตัน และขายหมดทุกปี นอกจากนี้ยังมีเครือข่าย  กลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านหนองแวง  เครือข่ายข้าวอินทรีย์กาฬสินธุ์ และกลุ่มข้าวอินทรีย์คำม่วง  ร่วมเป็นแหล่งผลิตที่ทำให้ข้าวมีคุณภาพมีมาตรฐานเดียวกัน

สำหรับการส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ ของ จ.กาฬสินธุ์  นับเป็นตัวอย่างของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ และเอกชน ที่มีเครือข่ายเป็นเกษตรกรที่เข้มแข็ง  มีความรู้ความเข้าใจในหลักการของการทำเกษตรอินทรีย์  ที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ  และสำหรับเกษตรกรที่สนใจข้อมูล  ขั้นตอนการทำเกษตรอินทรีย์ มาตรฐานสากลสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ หรือที่สวนจารุวรรณ  ซึ่งเปิดเป็นคลินิกเกษตรอินทรีย์เปิดให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรทั่วไป โทร.084-3216553

ข้อมูลจาก
ryt9.com/s/nnd/2184759

Popular posts from this blog

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา