วิกฤติฝนแล้งหนักที่สุดในรอบ 30 ปี งดส่งน้ำปลูกข้าวนาปี 4 ล้านไร่ ผลผลิตหายวับ 1.5 หมื่นล้านบาท
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำว่า ฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลฯประกาศงดการทำนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง แต่ปรากฏว่ามีชาวนาฝ่าฝืนประกาศและทำนาปรังไปมากกว่า 6 ล้านไร่ และได้ใช้น้ำในเขื่อนหลัก 4 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ป่าสักชลสิทธิ์ และแควน้อยบำรุงแดน ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคเหนือและลุ่มเจ้าพระยารวมทั้งสิ้นประมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จึงเหลือน้ำในเขื่อนหลักสำหรับการปลูก ข้าวนาปีระหว่างเดือน พ.ค.-ต.ค.นี้ เพียง 3,800 ล้าน ลบ.ม. จากที่วางแผนไว้ว่าต้องมี 5,000 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ หลังระบายน้ำจากเขื่อน เพื่อช่วยการปลูกข้าวที่ปลูกไปแล้วประมาณ 2.8 ล้านไร่ แต่ฝนยังไม่มาเติมน้ำในเขื่อน โดยปริมาณฝนปีนี้ต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี กรมชลฯ จึงขอประกาศงดส่งน้ำให้แก่นาข้าวที่ยังไม่เริ่มปลูกข้าวนาปีประมาณ 4.2 ล้านไร่ จากแผนการปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยา 7 ล้านไร่ เพื่อประคับ ประคองให้มีน้ำใช้การต่อไปได้อีก 40 วัน เพื่อรอฝนมาเติมช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ โดยได้แจ้งให้รัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ว่าราชการจังหวัด 22 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้รับทราบตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า คำนวณเบื้องต้นกรณีชาวนาลุ่มเจ้าพระยาในเขตพื้นที่ชลประทานปลูกข้าวนาปีขณะนี้ 2.8 ล้านไร่ ตามแผนการจัดสรรน้ำของกรมชลประทาน 7 ล้านไร่ มีพื้นที่ที่ยังไม่ได้ปลูกประมาณ 4.2 ล้านไร่ หากพื้นที่จำนวนนี้ไม่สามารถปลูกข้าวนาปีได้อย่างสิ้นเชิงจะทำให้ผลผลิตข้าวหายไปประมาณ 2.1 ล้านตัน โดยคิดเฉลี่ยจากผลผลิตต่อไร่ข้าวนาปีลุ่มเจ้าพระยา 500 กก.ต่อไร่ และคิดเป็นมูลค่าข้าวที่หายไปประมาณ 15,750 ล้านบาท คำนวณจากราคาข้าวขาวในตลาดตันละ 7,500 บาท อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าน่าจะยังมีฝนตกลงมาเพิ่มเติมเนื่องจากยังเหลือฤดูฝนนานถึง 4 เดือน และชาวนา ในลุ่มเจ้าพระยาน่าจะปลูกข้าวได้มากกว่าที่ประเมินในเบื้องต้น.
ข้อมูลจาก thairath.co.th/content/504091