เล็บมือนาง : เป็นยาถ่ายพยาธิ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Quisqualis indica L.
ชื่อสามัญ : Drunen sailor, Rangoon ceeper
วงศ์ : COMBRETACEAE
ชื่ออื่น : จะมั่ง จ๊ามั่ง (ภาคเหนือ) ไท้หม่อง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) อะดอนิ่ง (มลายู-ยะลา)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มเลื้อยที่เติบโตเร็ว ส่วนที่อ่อนมีขนสั้นหนานุ่ม สีสนิม ใบเดี่ยวติดตรงข้าม หรือบางส่วนสลับ หรือเวียนสลับเป็นวงรอบ ใบรูปหอกขอบขนานหรือรูปรี ขนาดกว้าง 5-18.5 ซม. ยาว 2.5-9 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมหรือค่อนข้างรูปหัว ดอกมีกลิ่นหอมออกเป็นช่อที่ยอดและตามซอกใบห้อยย้อยลงมา กลีบเลี้ยงเป็นหลอดมีสีเขียวปลายแฉกสามเหลี่ยมสั้นๆ กลีบดอกรูปขอบขนาน ขนาด 10-20 x 3-6 มม. ดอกเริ่มบาน สีขาวเปลี่ยนเป็นสีชมพูจนถึงแดงเข้ม ผลทรงรีแคบๆ 5 พู ยาวประมาณ 2.5 ซม. สีน้ำตาลแดงเป็นมัน
ส่วนที่ใช้ : ใบ ต้น ราก เมล็ดในของผลเล็บมือนางที่แก่แห้ง
สรรพคุณ :
ใบ
- ตำชโลม หรือทาแผล ทาฝี
- แก้ปวดศีรษะ แก้ไข้
ต้น - ใช้เป็นยาแก้ไอ
ราก - ใช้ถ่ายพยาธิ รักษาตานซาง
เมล็ด - ใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลม, พยาธิเส้นด้ายในเด็ก
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
ใช้เมล็ดในของผลเล็บมือนางที่แก่และแห้ง 4-5 เมล็ด (4-6 กรัม) หั่นทอดกับไข่ให้เด็กอายุประมาณ 5-6 ขวบรับประทานขับถ่ายพยาธิไส้เดือนตัวกลม
ผู้ใหญ่ : ใช้ 5-7 เมล็ด (หนัก 10-15 กรัม) ทุบพอแตก ต้มเอาน้ำดื่ม หรือหั่นทอดกับไข่รับประทาน
ข้อควรระวัง : ถ้าใช้มากเกินขนาด จะทำให้อาเจียน มึนงง อ่อนเพลีย
สารเคมี : มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ Quisquallic acid
ข้อมูลจาก rspg.or.th