ต้นสาคู : พืชอาหารพลังงานที่ถูกลืม
ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์และคนทั่วไปวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลกซึ่งมีหลักฐานว่าโลกจะร้อนขึ้น เมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนั้นอาจจะมีผลต่อพืชอาหารที่ให้พลังงานปัจจุบัน เช่นมันฝรั่ง ข้าวสาลี ข้าว และข้าวโพดที่อาจจะปลูกไม่ได้ในพื้นที่ที่เคยปลูก ซึ่งย่อมเป็นผลให้ปริมาณอาหารพลังงานไม่เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรโลก สาคูอาจเป็นพืชอาหารพลังงานทางเลือกหนึ่งที่ทดแทนพืชเหล่านั้นได้เนื่องจากสาคูสามารถผลิตแป้งได้มากกว่าข้าวและข้าวสาลีหลายเท่าในพื้นที่เท่ากัน
เมื่อเอ่ยถึงสาคู เราจะคุ้นหูกับสาคูไส้หมูและขนมเปียกสาคูหน้ากะทิ ซึ่งเป็นอาหารคาว-หวาน ที่คนไทยชอบรับประทาน แต่น้อยคนนักที่ทราบว่าเม็ดสาคูที่ใช้ทำขนมดังกล่าวทำมาจากอะไร คนที่รู้จักต้นสาคูอาจเข้าใจว่าเม็ดสาคูมาจากต้นสาคูที่พวกเขารู้จัก แต่จริงๆแล้วไม่เป็นอย่างนั้น เม็ดสาคูที่ใช้ทำขนมที่เรารับประทานกันเป็นประจำทำมาจากแป้งมันสำปะหลังที่มีลักษณะคล้ายแป้งสาคู สมัยก่อนเม็ดสาคูทำมาจากต้นสาคูที่เป็นพืชตระกูลปาล์มอย่างที่พบในภาคใต้ แต่หลังจากมีการนำเข้ามันสำปะหลังมาปลูกในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย การทำเม็ดสาคูได้ใช้แป้งมันสำปะหลังแทน ต้นสาคูไม่ถูกนำมาใช้เป็นแป้งและเม็ดสาคูต่อไป จนในที่สุดป่าสาคูที่มีนับแสนไร่ในประเทศไทยในอดีตถูกทำลายเหลือไม่กี่หมื่นไร่ ตัวอย่างที่เห็นในจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อปีพ.ศ.2528 มีป่าสาคูเจ็ดหมื่นกว่าไร่ จากการสำรวจของผู้เขียนพบว่า ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงพันกว่าไร่เท่านั้น การทำลายป่าสาคูเท่าที่ผู้เขียนได้ศึกษาเกิดจากความไม่รู้ของประชาชน และการเน้นส่งเสริมการปลูกพืชเพื่อการส่งออกของรัฐบาลเป็นสำคัญ ซึ่งรวมถึงมันสำปะหลังด้วย ในอนาคตหากมีการปลูกพืชชนิดนี้ซ้ำๆในพื้นที่เดิมจะทำให้ดินเสื่อมรวมทั้งการทำให้เกิดพื้นที่แห้งแล้งเป็นบริเวณกว้างได้ ตรงกันข้ามกับสาคูที่เป็นพืชสารพัดนึกในการใช้ประโยชน์และรักษาสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์ได้ตลอดไป ดังนั้นคนไทยควรที่จะทำความรู้จักกับพืชชนิดไว้เพื่อการฟื้นฟูให้เป็นทางเลือกสำหรับความมั่นคงทางอาหารในอนาคต
สำหรับผู้อ่านที่ยังไม่รู้จักต้นสาคู ผู้เขียนแนะนำพืชชนิดนี้ดังนี้ สาคูเป็นพืชตระกูลปาล์มมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Metroxylon sagu Rottb. มีลักษณะทั่วไปคล้ายต้นมะพร้าว ชอบขึ้นอยู่ในที่ชื้นแฉะมีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา เช่นริมแม่น้ำ ริมห้วย ในหนองและในพรุทั่วไป พืชชนิดนี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอย่างนี้ จึงไม่พบสาคูในพื้นที่ดอนซึ่งน้ำท่วมไม่ถึงซึ่งโดยปกติจะถูกใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรทั่วไป สาคูจึงไม่ได้แย่งพื้นที่ทำการเกษตรทั้งที่ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ แต่เป็นพืชที่ขึ้นได้ในสภาพพื้นที่ที่ทำการเกษตรอย่างอื่นไม่ได้มากกว่า ในประเทศไทยมีสาคูอยู่เพียง 14 จังหวัดภาคใต้เนื่องจากมีข้อจำกัดอยู่กับแนวเส้นรุ้งที่17 องศาใต้ ถึง 16 องศาเหนือเท่านั้น ส่วนในพื้นที่อื่นๆของโลกสาคูขึ้นอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมากที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย รองลงมาได้แก่ ปาปัวนีวกีนีและมาเลเซีย โดยเฉพาะรัฐซาราวัค ส่วนประเทศอื่นในแถบนี้มีไม่มาก ทั้งนื้อาจเป็นเพราะพืชชนิดนี้มีแหล่งกำเนิดในหมู่เกาะปาซิฟิกใต้ซึ่งได้แก่ ปาปัวนิวกีนีและอินโดนีเซีย ส่วนในประเทศอื่นรวมทั้งประเทศไทยถือว่ามีอยู่เป็นจำนวนน้อยเนื่องจากคนในยุคโบราณนำมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ต่าง ๆ
จากการที่ผู้เขียนได้ศึกษา-วิจัยเกี่ยวกับพืชนี้และคลุกคลีอยู่กับชุมชนที่มีป่าสาคู พบว่าพืชชนิดนี้มีคุณค่าและประโยชน์มากที่ควรแก่การอนุรักษ์และปลูกเพิ่มเติมสำหรับเป็นฐานทรัพยากรในการดำรงชีพและการสร้างเศรษฐกิจของคนไทยในจังหวัดภาคใต้ต่อไป ทั้งนี้เพราะสาคูเป็นพืชมหัศจรรย์ที่ให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ตั้งแต่รากจนถึงยอด จึงขอเล่าให้ฟังดังนี้ ชาวบ้านเคยใช้รากสาคูเป็นยาสมุนไพรสำหรับรักษาโรคท้องเสีย ลำต้นนำมาทำแป้งสาคูซึ่งมีลักษณะเป็นแป้งมันคล้ายแป้งมันสำปะหลัง เมื่อทำให้สุกจะมีลักษณะใส เหนียว และนุ่ม จึงนิยมนำมา แปรรูปเป็นอาหารหลายชนิดได้แก่ เม็ดสาคู ขนมกวนหน้าขี้มันและหน้ากะทิ ขนมจาก ขนมจีน เส้นหมี่ขนมปากหม้อ และขนมอบหลายชนิด ในอุตสาหกรรมอาหารได้มีการแปรแป้งดิบให้เป็นแป้งดัดแปร (modified starch) ซึ่งมีคุณสมบัติคงที่เมื่อแปรรูปเป็นอาหารต่าง ๆ
สำหรับปริมาณของแป้งสาคูใน 1 ต้นหากใครเคยเห็นต้นสาคูแล้ว คงคิดไม่ถึงว่าในต้นสาคูมีแป้งอยู่มากอย่างไม่น่าเชื่อ สาคูเป็นพืชที่เก็บคาร์โบไฮเดรตที่สังเคราะห์แสงได้ไว้ในรูปของแป้งในส่วนที่เป็นไส้ของต้น เมื่อสาคูมีอายุประมาณ 9 ปีซึ่งเป็นระยะออกดอกต้นสาคูจะสะสมแป้งไว้ในลำต้นสูงสุด ปริมาณแป้งในต้นสาคู 1 ต้น มีประมาณ 100-175 กิโลกรัมแป้งสด มีการศึกษาปริมาณแป้งที่สาคูที่ผลิตได้ในเนื้อที่ 1 ไร่ ประมาณ 3.5 ตันซึ่งมากเป็น 2.5-4 เท่าของข้าวและเป็น 7-12 เท่าของมันสำปะหลัง ในหมู่บ้านที่มีป่าสาคูมากพอที่จะทำแป้งได้อย่างบ้านดอนกลาง ที่ อ.ร่อนพิบูลย์ บ้านกะโสม ต.กะปาง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช บ้านนาแกเจ้ย และบ้านหนองตะพาบน้ำ อ.นาโยง จ.ตรัง สามารถผลิตแป้งสาคูขายสำหรับทำขนมพื้นเมือง ในราคา 40 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ดังนั้นสาคู 1 ต้นสามารถให้มูลค่าแป้งมากถึง 4,000 บาทเป็นอย่างน้อย แต่ถ้าทำเป็นขนมกวนขายจะมีรายได้ถึง 20,000 บาททีเดียว ถ้าคิดเป็นมูลค่าแป้งต่อ 1 ไร่อาจได้ถึง 140,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นรายได้จำนวนมากจากผลผลิตเพียง 1 ไร่
แป้งสาคูในต่างประเทศที่ประเทศผู้ผลิตต่างๆส่งออกไปขายเป็นตลาดใหญ่ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่นและใต้หวัน ประเทศเหล่านี้นอกจากใช้แป้งสาคูทำอาหารและขนมต่างๆแล้ว ยังใช้แป้งสาคูในอุตสาหกรรม กระดาษ อุตสาหกรรมไม้อัด อุตสาหกรรมกาว อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลกลูโคสและน้ำตาลเด็กโทรส อุตสาหกรรมแป้งดัดแปรที่พร้อมจะนำไปใช้กับอุตสาหกรรมอื่นที่ต่อเนื่องจากแป้งดัดแปรต่อไป อุตสาหกรรมผงชูรส ในอนาคตหากมีแป้งสาคูมากพอก็สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเอเทอร์นอล และอุตสาหกรรมพลาสติกย่อยสลายได้ เกี่ยวกับความสนใจเรื่องสาคูของญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นอย่างจริงจังและก้าวหน้าไปมาก จากการที่ญี่ปุ่นตั้งองค์กรชื่อ The Society of Sago Palm Studies ในมหาวิทยาลัยโตเกียวเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี(Tokyo University of Agirculture and Technology)ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยอย่างจริงจังเพื่อใช้ประโยชน์จากพืชที่ถูกใช้น้อยมากนี้ให้มากที่สุด สำหรับในประเทศไทยยังมีการศึกษาเกี่ยวกับพืชนี้น้อย แต่อย่างน้อยก็มีทีมวิจัยของ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สนใจศึกษาเรื่องนี้ จึงจัดว่าเป็นทีมบุกเบิกเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยสาคูในประเทศไทยได้เหมือนกัน
การใช้ประโยชน์จากต้นสาคูนอกเหนือจากการใช้แป้งแล้ว เกษตรกรบางคนนิยมใช้เนื้อไส้สาคูเลี้ยงด้วง ไส้สาคู 1 ต้นจะเลี้ยงด้วงสาคูได้ประมาณ 15 กิโลกรัม ราคาในตลาดท้องถิ่นขายกันกิโลกรัมละ 200 บาท ใบของต้นสาคูใช้เย็บจากเป็นวัสดุมุงหลังคาบ้านในชนบทซึ่งทำให้อากาศภายในบ้านเย็นสบาย ตลอดปีต้นสาคู 1 ต้นสามารถตัดใบเย็บจากได้ 20 ตับราคาขายในท้องถิ่นตับละ 10 บาท ในพื้นที่ 1 ไร่ซึ่งต้นสาคูได้ 30 ต้น จะสามารถผลิตจากได้ถึง 600 ตับ สร้างรายได้ประมาณ 6.000 บาท ส่วนทางหรือก้านใบที่ตัดใบใช้แล้วยังสามารถลอกผิวใช้สานเสื่อได้อีก ราคาเสื่อสาคู 1 ผืนขนาดกว้าง ยาว 1.5 เมตรมีราคาถึงผืนละ 1,000 บาท ส่วนที่เป็นเนื้อในของทางหลังลอกผิวออกแล้วก็สามารถใช้ทำจุกข้าวหลาม จุกขวด และสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เกษตรกรบางคนยังใช้ทางสาคูที่ตัดใบออกแล้วมาสับให้วัว ควายกินได้
ผลตอบแทนโดยอ้อมของป่าสาคูที่ให้กับชุมชน คือการให้พืชพรรณนับร้อยชนิดที่เป็นอาหารและยารักษาโรค ส่วนในน้ำบริเวณป่าสาคูก็จะมีปลานานาชนิด ผู้เขียนและทีมวิจัยได้รวบรวมปลาพื้นเมืองในป่าสาคูที่ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราชได้ถึง 16 ชนิด ส่วนสัตว์ป่าอื่นๆมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งอาหารของชุมชน เปรียบเสมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตของพวกเขาทีเดียว
เรื่องที่เล่าเกี่ยวกับสาคูเป็นเพียงข้อมูลเล็กน้อยเพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของพืชชนิดนี้ที่อยู่ในภาวะวิกฤติถูกทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากสภาพการทำลายสาคูและการไม่ศึกษาให้เห็นประโยชน์ที่มีมากมายมหาศาลของมันยังคงเป็นอยู่เช่นปัจจุบัน ก็เป็นที่น่าเสียดายที่คนในภาคใต้มีของดีแต่ใช้ไม่เป็น.
โดย รศ.นิพนธ์ ใจปลื้ม
คณะเกษตรศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รองศาสตราจารย์นิพนธ์ ใจปลื้ม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช
เลขที่ 109 หมู่ที่ 2 ต.ถ้ำใหญ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช 80110
โทรศัพท์ 089-7444521