ทางออกถั่วเหลืองไทยยุคเออีซี
ถั่วเหลืองนับเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาด้านการผลิตที่ไม่เพียงต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการของกลุ่มโรงงานผลิตน้ำมันถั่วเหลือง โรงงานผลิตอาหารสัตว์ รวมถึงโรงงานผลิตนมถั่วเหลือง ทำให้ไทยต้องนำเข้าถั่วเหลืองปีละกว่า 2 ล้านตัน มีมูลค่าร่วมกับกากถั่วเหลืองด้วยถึง 6.7 หมื่นล้านบาท
หากย้อนถึงอดีต ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองสูงสุดในปี 2532 คือ 3.01 ล้านไร่ ผลผลิต 625,278 ตัน เพียง 20 ปีให้หลัง จากข้อมูลระบุว่า ฤดูการเพาะปลูกถั่วเหลืองปี 2552/2553 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองเหลือเพียง 0.80 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 204,581 ตัน ล่าสุดไทยมีพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองไม่ถึง 1 แสนไร่ ได้ผลผลิตไม่ถึง 2 แสนตัน
แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ถั่วเหลืองขึ้นมา โดยมีระยะเวลาดำเนินตั้งปี 2553-2556 แต่สภาพความเป็นจริงสิ้นโครงการการปลูกถั่วเหลืองภายในประเทศมีผลผลิตปีละไม่ถึง 1 แสนตัน ขณะที่ความต้องการมีกว่า 2 ล้าน ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ให้เปิดตลาดเสรีนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) คราวละ 3 ปี (ปี 2557-2559) อัตราภาษีนำเข้าในโควตาร้อยละ 0
ปีที่แล้วกรมวิชาการเกษตรได้ลงนามภาคเอกชนประกอบด้วยบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท กรีนสปอต จำกัด และสมาคมผู้ผลิตถั่วเหลืองและน้ำมันรำข้าว เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการผลิตถั่วเหลืองแบบครบวงจร ตั้งแต่ปี 2557-2560 โดยมุ่งสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกถั่วเหลืองเพิ่มมากขึ้นในระบบการผลิตข้าว-ถั่วเหลือง และถั่วเหลือง-อ้อย เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองคาดว่าจะได้ผลผลิตป้อนเข้าสู่โรงงานปีแรกกว่า 6,000 ตัน ภายใน 3 ปีของโครงการนี้ตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนไร่ ได้ผลผลิตกว่า 2 หมื่นตัน
ขณะที่ไทยมีพื้นที่การปลูกถั่วเหลืองน้อยลง กลับตรงกันข้ามกับประเทศเพื่อบ้านของเราที่เป็นสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนที่กำลังจะรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ภายในอีก 188 วันข้างหน้า หรือปลายปี 2558 อาทิ เวียดนาม และส.ป.ป.ลาว ที่สามารถปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศไทย
ฉะนั้นหากประเทศเหล่านี้สามารถพัฒนาผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำกว่าประเทศไทย จะยิ่งทำให้กระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทยมากขึ้น เพราะมีเมล็ดถั่วเหลืองราคาถูกที่นำเข้าภายใต้ข้อตกลงว่าเขตการค้าเสรีอาเซียน ทะลักเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น จนถูกกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกดราคารับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองจากเกษตรกรในที่สุด
ถึงเวลานั้นสิ่งที่จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองได้ภายในประเทศคือ ต้องส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองในระดับท้องถิ่น เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ คณะที่ภาครัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อนำถั่วเหลืองไปแปรรูปร่วมกับผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ที่ได้รับความนิยม อาทิ ช็อกโกแลตถั่วเหลือง หรือเช่น กาแฟถั่วเหลือง เป็นต้น
ข้อมูลจาก
อาหมัด เบ็ญอาหวัง
komchadluek.net