สศก. เชื่อ ปีนี้ปีทองของชาวสวนผลไม้ ผลผลิตน้อย ราคาสูง
ช่วงนี้เป็นฤดูผลไม้หลากหลายชนิดจากภาคตะวันออกได้ทยอยออกสู่ตลาด ซึ่งราคาผลไม้ในปีนี้อาจมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน หนาวไม่ต่อเนื่อง สลับร้อนประกอบกับมีพายุฤดูร้อนเป็นระยะ ส่งผลต่อผลผลิตที่กำลังติดดอกออกผลร่วงหลุดเสียหาย ทำให้ผลิต
ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า
นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สศก.ได้ติดตามสถานการณ์และประเมินผลผลิตไม้ผล 6 ชนิด ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ที่กำลังทยอยออกสู่ตลาดในขณะนี้ โดยพบว่าจากสภาพอากาศแปรปรวน ประกอบกับช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นพฤษภาคมมีพายุฤดูร้อน ทำให้ผลผลิตไม้ผลในภาคตะวันออกและภาคใต้หลายชนิดเสียหาย ซึ่งผลการพยากรณ์ผลผลิตไม้ผลเมื่อไตรมาสแรกของปี 2558 ที่คาดการณ์ว่าทุเรียนจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 639,960 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 2% นั้น ปรากฏว่าเจอพายุฤดูร้อนทำให้ผลผลิตทุเรียนลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมประมาณ 40,000 ตัน ขณะที่ลำไย ปีนี้ผลผลิตลดลงเหลือ 878,322 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 120,000 ตันหรือคิดเป็นผลผลิตที่ลดลง 12% ด้านมังคุด ผลผลิตปีนี้อยู่ที่ 269,402 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 30,000 ตัน ลดลง 10% ส่วนเงาะคาดว่าจะมีผลผลิตอยู่ที่ 317,223 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 5,000 ตัน ลดลงประมาณ 1% ลองกอง ผลผลิตปีนี้ 164,141 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 14,000 ตัน หรือลดลง 8% และลิ้นจี่ มีผลผลิตที่ 59,693 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 10,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนที่ลดลง 14%
เมื่อปริมาณผลผลิตไม้ผลทั้ง 6 ชนิดมีการปรับตัวลดลง ทำให้ราคาจำหน่ายน่าจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 10-15% ซึ่งจากข้อมูลจุดรับซื้อที่สำคัญ พบว่า ทุเรียนหมอนทอง ราคาคละ 38 บาท/กก. ลำไย ราคาเกรด AA อยู่ที่ 29 บาท/กก. มังคุด 70 บาท/กก. เงาะโรงเรียน ราคา 34 บาท/กก. ลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย 20 บาท/กก. ลองกอง เบอร์ 1 อยู่ที่ 55 บาท/กก. ทั้งนี้ ราคาผลผลิตที่มีการปรับตัวสูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากความต้องการสินค้าจากต่างประเทศที่มีเพิ่มขึ้นด้วย อย่างกรณีลำไยประเทศอินโดนีเซียมีความต้องการมาก โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ได้อนุญาตนำเข้าไม่จำกัดจำนวนแต่ต้องมาจากแปลงที่ได้รับการรับรอง GAP เท่านั้น ทำให้ผลผลิตมีไม่เพียงพอกับความต้องการ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่แม้ผลผลิตในปีนี้จะลดลง แต่จะขายได้ในราคาดีขึ้น ทำให้มีรายได้สุทธิสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะชาวสวนที่มีการตกลงซื้อขายผลผลิตแบบเหมาสวน ที่มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับแหล่งรับซื้อหรือล้งไว้เรียบร้อยแล้วจะไม่มีผลกระทบมากนัก จึงนับว่าปีนี้น่าจะเป็นปีทองของชาวสวนผลไม้ที่มีโอกาสทำกำไรจากการขายผลผลิตได้มากขึ้น
นางสาวจริยากล่าวเพิ่มเติมว่า จากสภาพอากาศแปรปรวนแม้จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกรก็จริง แต่ก็ส่งดีทำให้ผลไม้จากภาคตะวันออก ไม่ออกมากระจุกตัวพร้อมกับผลไม้ภาคใต้เหมือนในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้ผลผลิตล้นตลาดและฉุดราคาตกต่ำได้ โดยในปีนี้ ผลไม้ภาคใต้จะออกล่าช้าจากภาคตะวันออกจากปกติ 15 วัน จะยืดออกไป 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง ทำให้
ผู้บริโภคที่บริโภคผลไม้ภาคตะวันออกได้มีโอกาสพักแล้วพอผลผลิตภาคใต้ออกมาก็ค่อยบริโภคอีกรอบ ดังนั้น หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีความเชื่อมั่นว่าปีนี้จะไม่ต้องใช้เงินไปในการแทรกแซงราคาผลไม้เหมือนปีที่ผ่านมา แต่ควรนำเงินไปช่วยสนับสนุนเกษตรกรในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการผลิต หรือการบริหารจัดการผลผลิตออกจากแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภคที่กว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะไปตามจังหวัดชายแดนที่มีการเปิดเขตการค้าอาเซียนก็น่าจะเป็นการขยายช่องทางตลาดผลไม้ได้ดีขึ้น
ถึงแม้ว่าฤดูกาลผลิตนี้ราคาที่เกษตรกรขายได้จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ด้วยการเพาะปลูกยังต้องอาศัยดินฟ้าอากาศส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะปัจจุบันสภาพอากาศแปรปรวนและสถานการณ์น้ำที่ค่อนข้างขาดแคลน เกษตรกรจึงจำเป็นต้องดูแลรักษาสภาพสวนให้ดี มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม จัดการดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิต และฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน ควบคู่กับการตกแต่งกิ่ง จัดการแปลงตามหลักวิชาการ ที่สำคัญคือพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพ เก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้มาตรฐาน เพราะถ้าเกษตรกรเก็บผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานไปจำหน่าย นอกจากส่งผลเสียต่อแปลงเกษตรกรเองแล้ว ยังกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศด้วย ที่สำคัญขณะนี้มีการนำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาดำเนินการกับผู้ที่จำหน่ายสินค้าไม่มีคุณภาพด้วย ดังนั้น เกษตรกรต้องมีความระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเกษตรกรเอง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคด้วย
ข้อมูลจาก naewna.com