ตั๊กม้อ หรือ พระโพธิธรรม หรือ ตะโม ภิกขุ กันแน่


พระโพธิธรรม - ปฐมาจารย์นิกายเซนในจีน

"พระโพธิธรรม" (ชื่อไทย) หรือ "ตะโม ภิกขุ" (ชื่ออินเดีย) หรือ ท่าน"ตั๊กม้อ" (ชื่อจีน) เป็นพระภิกษุชาวชมพูทวีป (อินเดีย) ท่านเกิดเมื่อราว พ.ศ. ๑๐๑๓ เป็นโอรสองค์ที่ ๓ ของพระเจ้าแผ่นดินแคว้นคันธารราช ประเทศอินเดีย (ใกล้เมืองมัทราสหรือเจนไนในอินเดียปัจจุบัน) มีนัยน์ตาสีฟ้า ตั้งแต่อายุยังเยาว์ ทรงปราดเปรื่องและแตกฉานในคัมภีร์ของทุกศาสนาและวรรณคดีอักษรศาสตร์โบราณ เป็นปราชญ์แห่งยุค เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ พวกพี่ชายแย่งราชสมบัติกัน ท่านจึงเกิดความเบื่อหน่าย จึงไปศึกษาแสวงธรรมอยู่กับ พระปรัชญาตาระเถระ ผู้เป็นสังฆปริณายกองค์ที่ ๒๗ แห่งนิกายเซน

พระปรัชญาตาระได้หยิบลูกแก้วยกขึ้นให้ท่านโพธิธรรมดูเป็นปริศนา ท่านก็บังเกิดความรู้แจ้งในธรรมจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ พระปรัชญาตาระเถระได้เรียกประชุมคณะสงฆ์และประกาศมอบบาตร จีวร สังฆาฏิ และถ่ายทอดธรรมทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ท่านโพธิธรรมเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ ๒๘ พร้อมทั้งสั่งให้ท่านโพธิธรรมนำวิถีธรรมของพระพุทธเจ้าเผยแผ่สู่ประเทศจีน

เมื่อท่านโพธิธรรมได้จาริกมาสู่ประเทศจีน และได้เข้าพบสนทนาธรรมกับ พระเจ้าเหลียงบูเต้ แห่งราชวงศ์เหลียง พระโพธิธรรมถูกพระเจ้าจักรพรรดิถามถึงผลานิสงส์ของบุญกิริยาหลายอย่างหลากประการที่พระองค์ทรงสั่งสมมาเป็นอันมากว่าเป็นประการใด

"ตั้งแต่ข้าพเจ้าครองราชย์มา ได้สร้างวัดวาอาราม โบสถ์วิหาร และพระคัมภีร์มากมาย อีกทั้งอนุญาตให้ผู้คนได้บวช โปรยทาน ถวายภัตตาหารเจแด่พระภิกษุสงฆ์ ตลอดจนทะนุบำรุงพระศาสนามากมาย ไม่ทราบว่าจะได้รับกุศลมากน้อยเพียงใด"

พระโพธิธรรมตอบว่า "ไม่ได้บุญกุศลอะไรเลย"

พระจักรพรรดิเองไม่ทรงเข้าพระทัยว่าที่ท่านโพธิธรรมตอบเช่นนั้นหมายความว่าอย่างไร ท่านโพธิธรรมก็ดูเหมือนจะไม่ได้อรรถาธิบายให้ลึกซึ้งลงไปยิ่งกว่านั้น แต่หากเราพอมีพื้นความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาอยู่บ้างแล้ว ก็คงจะไม่แปลกใจในคำตอบของท่านโพธิธรรม เพราะในทัศนะของเซนหรือปรัชญาสำนักมาธยมิก และ/หรือแม้แต่หลักคำสอนระดับปรมัตถ์ในพระพุทธศาสนาก็สอนเรื่อง "สุญญตา" หรือ "ความว่าง" เอาไว้ไม่น้อย เมื่อสรรพสิ่งเป็น "สุญญตา" อย่าว่าแต่บุญกุศลจะไม่มีเลย แม้แต่ผู้ทำบุญกุศลเองก็ไม่มี

หลังจากมีปัญหาทางการสื่อสารกับพระจักรพรรดิเหลียงบูเต้ กล่าวกันว่า พระโพธิธรรมเดินทางต่อไปยัง วัดเส้าหลิน (หรืออีกชื่อคือ วัดเสี้ยวลิ้มยี่) ณ ภูเขาซงซัว และพำนักเผยแผ่พุทธศาสนาในแบบของท่านอยู่ที่วัดนี้ วิธีการของท่านก็คือการนั่งสมาธิเงียบ หรือปลีกวิเวกอยู่เดียวดาย โดยไม่นิยมปริปากสอนใคร แต่การที่ท่านปฏิบัติเช่นนี้มิได้หมายความว่าท่านมิได้สอน การนั่งสมาธิอย่างสงบนี่แหละคือการสอน และวิธีการเช่นนี้แหละคือ "ปัจจัตตลักษณ์" อันโดดเด่นของวิธีการสอนแบบเซนประการหนึ่ง

ท่านโพธิธรรมนั่งสมาธิผินหน้าเข้าฝาอยู่ถึง ๙ ปี และได้มอบหมายธรรมให้แก่ ฮุ้ยค้อ จนสำเร็จเป็นนิกายเซนขึ้น กล่าวได้ว่านอกจากท่านจะเป็นผู้นำพุทธศาสนานิกายเซนมาถือปฏิสนธิและลงหลักปักฐานในผืนแผ่นดินจีนอย่างแน่นแฟ้นแล้ว ท่านยังมีฐานะเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หนึ่งของพุทธศาสนานิกายนี้ที่มีต้นกำเนิดในจีนอีกด้วย

นอกจากท่านโพธิธรรมจะเป็นเจ้าอาวาสคนแรกแห่งวัดเส้าหลินแล้ว ไม่เพียงแต่ความรู้ในทางธรรมเท่านั้น ท่านยังมีความสามารถด้านเชิงหมัดมวยเช่นกัน เนื่องจากในช่วงแรกวัดเส้าหลินตั้งอยู่ในป่าที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้าย และการที่บรรดาพระผู้ฝึกตนต้องนั่งสมาธินานๆ โดยไม่ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย จึงส่งผลต่อสุขภาพได้ง่าย ท่านยังจึงคิดเพลงหมัดมวยขึ้นมาเพื่อใช้ออกกำลังกาย และใช้ป้องกันตัวจากสัตว์ป่า และนั่นก็นับเป็นต้นกำเนิดของกังฟูเส้าหลินอันลือลั่นในปัจจุบัน


อ้างอิงจาก
ว.วชิรเมธี จากหนังสือชาล้นถ้วย 

Popular posts from this blog

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา