ไขปริศนา สารสะเดา ทำไมฆ่าแมลงไม่ตาย


เกษตรกรบ้านเรา รู้จักใช้สารสะเดากำจัดศัตรูพืชแทนสารเคมี แต่ในทางปฏิบัติกลับล้มเหลว เกษตรกรไม่นิยม เพราะกำจัดศัตรูพืชไม่ได้ยาวนาน หนอนแมลงไม่ตาย

เพื่อความชัดเจน รศ.ดร.อัญชลี สงวนพงษ์ ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดจากสะเดาเพื่อกำจัดศัตรูพืช มาเป็นระยะเวลานาน พบว่าตัวการที่ทำให้สารสะเดาใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากสารที่สกัดออกมาจำหน่ายให้เกษตรกรไปใช้ส่วนใหญ่เป็นสารที่ได้จากการหมัก

สารในสะเดาจึงออกมาน้อย ความเข้มข้นไม่พอ การกำจัดจึงไม่ได้ผล

อีกเหตุผล เกษตรกรฉีดพ่นยาไม่ถูกกาลเทศะ

ไม่ฉีดพ่นในตอนเย็น เพราะเป็นช่วงเวลาดีที่สุด ไม่มีแดดมาเผาให้สภาพเสื่อมถอย แล้วยังเป็นช่วงที่แมลงออกมากัดกินพืชอีก ฉีดพ่นทีเดียวกำจัดได้ยกโขยง

และอีกปัญหาเกษตรกรฉีดพ่นสะเปะสะปะ

ไม่รู้ว่า สารสะเดานั้นกำจัดได้เฉพาะหนอนแมลงวัยอ่อนที่เพิ่งออกมาจากไข่ ถ้าเป็นหนอนตัวแก่กลายเป็นแมลงออกปีกบินไปไหนต่อไหนได้ ฉีดไปไม่ได้ประโยชน์ กำจัดไม่ได้ผล

“สะเดามีฤทธิ์กำจัดหนอนแมลงได้ เพราะมีสารอะซาไดแรกติน (Azadirachtin) ซึ่งออกฤทธิ์โดยตรงต่อระบบต่อมไร้ท่อ หรือระบบฮอร์โมนของหนอนแมลง เมื่อเข้าไปแล้วจะยับยั้งการกินอาหารของแมลง ทำให้แมลงศัตรูพืชกินอะไรไม่ได้ กินไม่ลง ในที่สุดก็จะอดตาย และสารตัวนี้มีมากที่สุดในเมล็ดสะเดา ซึ่งการหมักโดยทั่วไป มักจะนำใบมาหมักเป็นหลัก มันเลยมีปริมาณสารออกฤทธิ์ไม่มากพอ เลยฆ่าหนอนแมลงไม่ค่อยได้”

รศ.ดร.อัญชลี บอกว่า จากการนำเมล็ดมาสกัด โดยใช้เครื่องสกัดให้ได้สารอะซาไดแรกตินเข้มข้นสูง มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ “นีมพาวเวอร์” และนำไปผสมน้ำให้เกษตรกรทดลองใช้ในแปลงนาข้าว สวนผลไม้ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยการพ่น 10 กว่าครั้งต่อปี...ฉีดพ่นแบบถูกเวลาในตอนเย็นและถูกระยะตัวหนอนวัยอ่อนกำลังออกจากไข่มาอาละวาด

ปรากฏว่า สามารถกำจัด หนอนชอนใบ, หนอนกระทู้, หนอนหลอดหอม, หนอนใยผัก, หนอนม้วนใบ, หนอนบุ้ง, หนอนแก้วส้ม, หนอนหัวกะโหลก, เพลี้ยอ่อน และ เพลี้ยไก่แจ้ ได้แบบไม่มีปัญหา เหมือนที่เกษตรกรตำหนิ ใช้สารสะเดามักจะไม่ได้ผล.

ข้อมูลจาก
- ไชยรัตน์ ส้มฉุน
- thairath.co.th/content/463139

Popular posts from this blog

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา