พัฒนาฟาร์มรักษ์โลก ปันน้ำชุมชนฝ่าวิกฤติแล้ง
พัฒนาฟาร์มรักษ์โลก ปันน้ำชุมชนฝ่าวิกฤติแล้ง นอกจากจะเป็นฟาร์มสีเขียวแล้ว ฟาร์มแห่งนี้ยังถูกจัดให้เป็นศูนย์เรียนรู้ครบทุกหน่วยผลิตในฟาร์มเดียว
การแก้ไขปัญหาฟาร์มหมูส่งกลิ่นเหม็น ปล่อยของเสียออกมาทำลายสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้เป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ด้วยปัจจุบันการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโลกเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งยังเป็นตัวผลักดันให้สังคมโลกและสิ่งแวดล้อมสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนจาก “เกษตรกรรมหลังบ้าน” สู่ “ระบบเกษตรอุตสาหกรรม” เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ภาคเกษตรของไทยต้องพัฒนาตามไปด้วย ทั้งในแง่ของปริมาณที่ต้องเน้นเพียงพอและเข้าถึง ขณะเดียวกันผู้บริโภคต้องการระบบการผลิตที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เพื่อชุมชนอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมการผลิตได้อย่างมีความสุข
ในเรื่องปศุสัตว์นั้น บริษัทชั้นนำเมืองไทยมีจำนวนไม่น้อย ทั้งที่มีความชำนาญเฉพาะด้านและที่ทำครบวงจร ได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ และหนึ่งในนั้นก็คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตอาหารปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เช่นที่ฟาร์มกาญจนบุรี ต.สระลงเรือ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี บนพื้นที่ 306 ไร่ เป็นฟาร์มขนาดใหญ่จำนวน 49 หลัง เลี้ยงหมูรวม 22,400 ตัว มีทั้งพ่อ-แม่พันธุ์ เป็นพ่อพันธุ์ 70 ตัว และแม่พันธุ์ 3,400 ตัว โรงหมูอนุบาลและเลี้ยงหมูขุนอีก 19,000 ตัว ฟาร์มนี้ไม่มีปัญหาเรื่อง “กลิ่นขี้หมู”
ได้มีการทำฟาร์มระบบปิดด้วยโรงเรือนระบบอีแวป การใช้ส้วมน้ำในโรงเรือนหมูขุน การใช้ระบบไบโอแก๊สแบบ cover lagoon ที่จะได้ก๊าซชีวภาพมาปั่นเป็นไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม การทำระบบบำบัดน้ำเพื่อนำน้ำไปรดต้นไม้รอบฟาร์ม การนำระบบฟอกอากาศท้ายโรงเรือนมาใช้ ซึ่งระบบทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้มาตรฐานฟาร์มสีเขียว หรือกรีนฟาร์ม ที่ช่วยกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลต่อภาวะโลกร้อน และทำให้ฟาร์มอยู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นอกจากจะเป็นฟาร์มสีเขียวแล้ว ฟาร์มแห่งนี้ยังถูกจัดให้เป็นศูนย์เรียนรู้ครบทุกหน่วยผลิตในฟาร์มเดียว ตั้งแต่หน่วยผสม-อุ้มท้อง หน่วยตกลูก หน่วยอนุบาล และหน่วยสุกรรุ่นพันธุ์ ภายใต้แนวคิดในการสร้างฟาร์มหมูปลอดโรค ปลอดสาร ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่จะช่วยสนับสนุนให้การเลี้ยงสุกรมีประสิทธิภาพสูงสุดและช่วยลดต้นทุนการผลิต ภายใต้ระบบการเลี้ยงมาตรฐานและตรวจสอบย้อนกลับได้ ที่สำคัญคือมุ่งเน้นกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน
กำนันระเบียบ ปทุมสูตร กำนันเทศบาลตำบลสระลงเรือ บอกว่า ฟาร์มแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2546 ห่างจากชุมชน พื้นที่โดยรอบเป็นไร่อ้อย ชาวบ้านรับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างฟาร์มหมูกับการเลี้ยงหมูแบบหลังบ้าน โดยเฉพาะไม่ส่งกลิ่นเหม็นออกมารบกวนคนในชุมชน ขณะเดียวกันมีการปลูกต้นไม้เต็มบริเวณ
“ทางฟาร์มฯ ยังแบ่งปันน้ำที่บำบัดจนสะอาดและได้มาตรฐานตามกฎหมายให้กับชาวบ้านในชุมชน ซึ่งช่วยแก้ป้ญหาในฤดูแล้งและขาดน้ำอยู่เสมอ โดยการนำน้ำไปรดไร่อ้อยที่อยู่บริเวณรอบ ๆ ฟาร์ม ซึ่งพบว่าทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น” กำนันระเบียบ กล่าว
ความสำเร็จของมาตรฐานกรีนฟาร์มในฟาร์มหมูแห่งนี้ได้รับการนำไปถ่ายทอดให้เกษตรกรรายย่อยในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำไปปรับใช้ในฟาร์มของตนเองอีกด้วย
ข้อมูลจาก
www.dailynews.co.th