คุมเข้มคุณภาพปาล์ม : หลัง1สค.น้ำมันต่ำกว่า17% อาจถูกปฏิเสธรับซื้อ


นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินการของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป สำนักงานคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (สกกร.) ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ จะออกประกาศให้โรงงานสกัดน้ำมันหรือลานเทรับซื้อผลปาล์มทะลายและผลปาล์มร่วงจากเกษตรกรในราคาเดียว อัตราน้ำมันไม่ต่ำ
กว่าร้อยละ 17 ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4.20 บาท และถ้าผลปาล์มทะลายที่นำมาขายมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงกว่าร้อยละ 17 ทุก 1% ที่เพิ่มขึ้น จะได้ราคาเพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 0.30 บาท ในขณะที่หากเกษตรกรนำปาล์มที่ไม่มีคุณภาพหรือมีเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่า 17% ทางโรงสกัดน้ำมันหรือลานเทอาจปฏิเสธการรับซื้อได้ ดังนั้น เกษตรกรต้องดูแลสวนปาล์ม และตัดผลปาล์มที่สุกโดยสังเกตจากทะลายที่มีผลสุก มีสีผลปาล์มสุกตรงตามพันธุ์และมีผลปาล์มร่วงที่สุกธรรมชาติ 5-10 เมล็ดต่อทะลาย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถขายผลปาล์มทะลายที่มีคุณภาพตามราคาประกาศได้

ทั้งนี้ จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในจังหวัดที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันร่วมกันสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว และช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ตลอดจนผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน การลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งขอความร่วมมือให้ทางจังหวัดในพื้นที่ที่มีการปลูกปาล์มน้ำมัน ช่วยกำกับการดำเนินการของโรงงานสกัด ลานเท โรงกลั่นฯ และโรงผลิตไบโอดีเซล ให้เป็นไปตามมติ กนป. อย่างเคร่งครัด

นายคณิตกล่าวต่อว่า ทั้งนี้เพื่อเป็นการทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าวแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย สศก.จึงได้จัดสัมมนาเพื่อชี้แจงและประชาสัมพันธ์มาตรการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ในจังหวัดแหล่งผลิตสำคัญได้แก่ กระบี่ สุราษฎร์ธานี และชลบุรี โดยเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เกษตรกร ผู้แทนสถาบันเกษตรกร รวมทั้งผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมงานดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเกิดประโยชน์นำไปสู่การปฏิบัติได้จริงอย่างมีประสิทธิผล และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ข้อมูลจาก naewna.com/local/165791

Popular posts from this blog

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา