เตรียมคลอด รัฐวิสาหกิจยาง


เพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการครบวงจร

นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. และการจัดการยางพาราทั้งระบบของผลผลิตปี 2558/2559 ให้แก่ผู้บริหารของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย. ภายหลังจากร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย โดยเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะทำให้การบริหารงานยางพาราของประเทศเป็นไปอย่างครบวงจร ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป อุตสาหกรรม งานวิจัยและวิชาการ ตลอดจนการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติในการพัฒนายางพาราให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

นายอำนวยกล่าวต่อไปว่า กฎหมายฉบับนี้ เกิดจากการบูรณาการรวมหน่วยงานยางพาราที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสวนยาง และสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานใหม่ ภายใต้ชื่อ “การยางแห่งประเทศไทย” หรือ กยท. ซึ่งเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนและดำเนินงานพัฒนาระบบยางพาราของประเทศให้เป็นเอกภาพ และมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะประเทศที่ครองตำแหน่งแชมป์ผู้ผลิตยางพารามากที่สุดในโลก และที่สำคัญ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเป็นผู้นำตลาดยางพาราโลกจากบทบาทและภารกิจที่ครอบคลุมในการจัดการด้านการตลาด



นอกจากนี้ การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหวังช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคงและยั่งยืนในการประกอบอาชีพการทำสวนยาง ตลอดจนสามารถยกระดับระบบตลาดให้มีเสถียรภาพ ดังนั้น กยท. จะทำหน้าที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวม 16 มาตรการ ให้เป็นแนวทางเดียวกันต่อไป สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งเตรียมความพร้อม คือ การบริหารจัดการองค์กร ทั้งระบบ การเงิน บัญชี และงบประมาณของปี 2558 และ 2559 ซึ่งจะต้องดำเนินการปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับการเป็น กยท. โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2558 ที่อาจจะต้องนำมาใช้เพื่อการบริหารจัดการ กยท. ประมาณ 2 เดือน รวมทั้งการจัดทำระบบทะเบียนเกษตรชาวสวนยางด้วย สำหรับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจะมีบทบาทและภารกิจเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มุ่งเรื่องการส่งเสริมปลูกแทน มาเป็นการสนับสนุนกิจการของสถาบันเกษตรกรให้เติบโตขึ้น และประเด็นที่มีความห่วงใยกันมาก คือ การใช้เงินสงเคราะห์ หรือเงินเซส (Cess)โดย กยท. จะต้องกำหนดแผนบริหารเงินกองทุน นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบ เพื่อควบคุมการขยายตัวของ กยท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจต่อไป

ข้อมูลจาก naewna.com

Popular posts from this blog

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา