เยียวยาภัยแล้ง : ลดราคาปุ๋ย-ค่าเกี่ยวข้าว ช่วยเกษตรกรพื้นที่เสี่ยง


เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเข้าขั้นวิกฤติในขณะนี้ ว่า นายชิดชนก สมประเสริฐ ผอ.สำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ที่เหลือน้อยลง โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว ที่ขณะนี้น้ำในเขื่อนใช้การได้ประมาณ 18% หรือประมาณ 57 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าพิจารณาจากการใช้น้ำโดยปกติเฉลี่ยตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคมนี้ น่าจะใช้ประมาณ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงไม่เหลือน้ำแน่นอน อย่างไรก็ดี หากฝนตกต้องตามฤดูกาล หากประเมินค่าเฉลี่ยแล้วตรงนี้ไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงก็อาจมีผลกระทบต่อเกษตรกร

ชลประทานโคราชชะลอปล่อยน้ำ

นายชิดชนก เปิดเผยด้วยว่า ได้มีการประชาสัมพันธ์ในเขตชลประทาน ว่าขอให้ชะลอการปล่อยน้ำ รอดูสถานการณ์ฝนในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ หากฝนตกและทิ้งช่วง ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ไว้ ก็จะมีการประเมินการบริหารจัดการกันใหม่ เพราะระยะเวลายิ่งใกล้มากการพยากรณ์ก็จะแม่นยำ และถ้าฝนจะเริ่มตกชุกในเดือนสิงหาคม ก็จะไม่มีปัญหา พี่น้องเกษตรกรชาวนาก็หว่านข้าวและเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนธันวาคมนี้

ย้ำหากฝนทิ้งช่วงกระทบใช้น้ำ

นายชิดชนก เปิดเผยอีกว่า นาข้าวที่มีการปลูกอยู่ในพื้นที่ส่วนมากเป็นนาในที่ลุ่มต่ำ และนาที่อยู่นอกเขตชลประทานที่มีการหว่านเมล็ดข้าวแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงซึ่งต้องรอฝนตกเป็นหลัก และจะให้เราส่งน้ำไปช่วยนั้นคงทำไม่ได้ เพราะแต่ละอ่างใหญ่ของชลประทานมีการบริหารน้ำหากเกิดวิกฤตฝนทิ้งช่วง คงต้องนำเรือน ผวจ.นครราชสีมา ประชุมแก้ปัญหาเร่งด่วน

เขื่อนสิริกิติ์ลดปล่อยน้ำหนที่3

ด้าน นายสุเทพ เลิศศรีมงคล ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ทางเขื่อนสิริกิติ์ ปรับลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนเป็นครั้งที่ 3 ในรอบเดือนมิถุนายน เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามามีปริมาณน้อยมาก เฉลี่ยวันละแค่ 3–4 ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรกรจึงควรปฏิบัติตามคำเตือน ชะลอการทำนาปีไปถึงเดือนกรกฎาคมนี้ เพราะปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้อยู่ที่ 507 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 7 ซึ่งสิ่งที่บ่งบอกถึงสถานการณ์น้ำเข้าขั้นวิกฤติ คือจากวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา เขื่อนมีน้ำอยู่ 780 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียง 15 วัน ลดลงเหลือ 507 ล้านลูกบาศก์เมตร

ชาวบุรีรัมย์ร้องดูแลราคาข้าว

ที่ จ.บุรีรัมย์ วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ได้ส่งผลกระทบต่อไร่นาของเกษตรกรในพื้นที่ ต.บ้านแพ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ หลายร้อยไร่ ซึ่งต้นข้าวเริ่มเหี่ยวเฉา แห้งตายเพราะขาดน้ำ โดยข้าวที่หว่านเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา งอกไม่เต็มทั่วแปลงนา ชาวนาต้องพากันถอนกล้ามาปักดำซ่อมแซมทดแทน หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้คาดว่าต้นกล้าและข้าวนาหว่านจะเสียหายอีกเป็นจำนวนมาก ชาวนาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องน้ำในการทำนา และเรื่องราคาข้าว เพราะบางรายลงทุนทำนาหลายครั้ง

ชัยนาทน้ำลดตลิ่งทรุดบ้านพัง

ขณะเดียวกัน นายยศกร เล็งบัวรัตน์ ปลัด อบต.ท่าชัย อ.เมือง จ.ชัยนาท พร้อมคณะ ได้เข้าตรวจสอบบ้านพักเลขที่ 177 และบ้านเลขที่ 14 หมู่ 2 ต.ท่าชัย อ.เมือง หลังจากทรุดตัวลงจากสาเหตุที่แม่น้ำเจ้าพระยา ลดระดับต่ำ ส่งผลทำให้ตลิ่งทรุด ตัวบ้านพังเสียหาย นายยศกร กล่าวว่า หลังจากสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วได้รายงานให้นายสิงหล ทรัพย์พ่วง นายกเทศมนตรีท่าชัย ทราบแล้ว เพื่อเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือ แต่ขณะนี้ยังไม่ถือว่าเข้าหลักเกณฑ์พื้นที่ประกาศภัยพิบัติ จึงดำเนินการตามระเบียบของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไม่ได้ และสถานการณ์นี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นแต่เคยเกิดมาแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

คลองส่งน้ำที่อ่างทองแห้งขอด

ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ จ.อ่างทอง พบว่าภัยแล้งได้ขยายวงกว้าง ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ลดลงอย่างต่อเนื่อง และคลองชลประทานหลายแห่งน้ำแห้งขอด โดยนายสมพิศ พูลสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่ น้ำจากเขื่อนต่างๆ มีปริมาณน้อย ทางชลประทานจึงชะลอการจ่ายน้ำ ทำให้ระดับไม่เพียงพอจะไหลสู่คลองส่งน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำลดลง เกษตรกรต้องใช้เครื่องสูบน้ำจากคลองสายหลัก สำหรับการเร่งขุดเจาะบ่อบาดาลที่ จ.อ่างทอง อยู่ระหว่างดำเนินการ

พณ.สำรวจผลผลิตการเกษตร

อีกด้านหนึ่ง นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ จึงสั่งการไปยังการค้าภายในจังหวัดให้สำรวจผลผลิตสินค้าเกษตร และปริมาณผลผลิต ว่าได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหรือไม่ ซึ่งในบางพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบอาจจะส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรบางชนิดเพราะมีปริมาณลดลง

“จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้เชื่อว่าน่าจะดีขึ้น และราคาผักน่าจะกลับมาเป็นปกติเมื่อฝนเริ่มมา สถานการณ์น่าจะดีขึ้นช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากมีพายุโซนร้อนคูจิระ ที่กำลังจะเข้ามาทางเวียดนาม ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่สวนราคาสินค้าอื่นๆ ขณะนี้ยังทรงตัว โดยเฉพาะเนื้อหมู่ เนื้อไก่ และไข่ไก่ ที่ปีนี้ยืนยันว่าราคาไม่แพง” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

ลดราคาปุ๋ย-ค่าจ้างเกี่ยวข้าว

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ ให้ลดราคาจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ทั้งปุ๋ยเคมี ยาป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ค่าบริการเกี่ยวข้าวให้กับชาวนาที่ปลูกข้าวนาปีในฤดูกาลผลิตปี2558/2559 โครงการดังกล่าวมีผลแล้ว เพื่อทำให้ต้นทุนในการผลิตของเกษตรกรลดลง ซึ่งไม่ต่ำกว่าการให้ความช่วยเหลือในปีก่อน หรือช่วยลดต้นทุนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 400บาท

ทั้งนี้ สำหรับราคาปุ๋ยเคมีที่ใช้ในนาข้าวลดลงแล้ว 4 สูตร โดยลดลงกระสอบละ 40-50 บาท ปุ๋ยเคมีที่ใช้กับพืชอื่นๆ 7 ชนิด ราคาลดลง 25-50 บาท ส่วนค่าบริการเกี่ยวข้าวในภาคกลางไร่ละ 450 บาท ส่วนภูมิภาคไร่ละ 500 บาท

ข้อมูลจาก naewna.com/local/165826

Popular posts from this blog

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา