สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร จัดงานแถลงข่าวแสดงความยินดีกับนักวิจัยทุน สวก. ที่คว้ารางวัลต่างๆ
สวก. จัดงานแถลงข่าวแสดงความยินดีกับนักวิจัยทุน สวก. ที่คว้ารางวัลต่างๆ ในปี 2557 พร้อมจัดงานประกาศเกียติคุณรางวัลเกียรติยศ “ผลงานเด่น สวก.” รวม 10 รางวัล
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2558 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จัดงานแถลงข่าวแสดงความยินดีให้กับคณะนักวิจัยที่ สวก. ให้ทุนสนับสนุน เนื่องในโอกาสที่นำโครงการวิจัยไปคว้ารางวัลจากสถาบันต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในปี 2557 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งจัดงานประกาศเกียรติคุณรางวัลเกียรติยศ “ผลงานเด่น สวก.” แก่คณะวิจัยที่มีผลงานยอดเยี่ยม รวม 10 รางวัล หวังให้เป็นแบบอย่างในการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณค่าต่อสังคม ตลอดจนเผยแพร่ผลงานวิจัยให้เป็นที่รู้จักสู่สาธารณชน งานได้จัดขึ้น ณ โรงแรม รามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร เป็นประธานในพิธี
รองศาสตราจารย์ ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า “งานวิจัย” คืองานที่สร้างความงอกงามทางปัญญา ซึ่ง สวก. มุ่งสนับสนุนงานวิจัยด้านการเกษตรซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย และเชิงสาธารณะ เพื่อสร้างความเจริญแก่ภาคการเกษตรของไทยและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาโดยตลอด โดยในปี 2558 นี้จะย่างเข้าสู่การทำงานปีที่ 12 ผลงานวิจัยที่ สวก. ได้ให้การสนับสนุนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อภาคการเกษตร รวมถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องมากมาย ดังนั้น สวก. จึงจัดให้มี “รางวัลผลงานเด่น สวก.” ขึ้น ซึ่งในปี 2557 นี้ได้ดำเนินการเป็นครั้งแรก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผลงานวิจัยดีเด่นให้เป็นที่ประจักษ์ สร้างคุณประโยชน์ต่อวงวิชาการ สร้างขวัญ กำลังใจ และเชิดชูเกียรตินักวิจัยที่มีคุณภาพ ตลอดจนนำไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และสาธารณะ โดยคัดเลือก 10 ผลงานเด่นจากจำนวนร้อยกว่าผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สวก. โดยพิจารณาจากงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ และสามารถนำมาต่อยอดขยายผล เกิดประโยชน์และผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติอย่างกว้างขวาง
“รางวัล” มิได้เพียงตอบแทนความพากเพียรของนักวิจัย หรือยืนยันความเป็นเลิศในงานวิจัยชิ้นนั้นเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ “เชิดชูเกียรติ” นักวิจัย ส่งมอบ “ต้นแบบ” และ “แรงบันดาลใจ” สู่นักวิจัยรุ่นต่อไปในการปฏิบัติหน้าที่นักวิจัยผู้สร้างความงอกงามทางปัญญาอย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้ สวก.ยังมุ่งหวังว่าเมื่อได้ประกาศรางวัลผลงานเด่น สวก. จะช่วยจุดประกายความสนใจ ทำให้เกิดการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานเหล่านี้ออกไปสู่สาธารณชนอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น เกิดการสื่อสารกระจายความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมเข้าไปเกี่ยวข้อง เดิมผู้คนมักคิดว่าทำอาชีพเกษตรแล้วยากจน แต่ขอยืนยันว่า “เกษตรกรหรือทำเกษตรกรรมแล้วไม่จน หากทำด้วยความรู้” สวก. เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พัฒนาความรู้ ต่อยอดทางปัญญาด้านการเกษตรของไทย จึงนับเป็นกลไกหนึ่งที่มีส่วนในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน” รองศาสตราจารย์ ดร.พีรเดช กล่าว
สำหรับรางวัลเกียรติยศ ผลงานเด่น สวก.จำนวน 10 ผลงานที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เป็นนักวิจัยหรือนักวิชาการที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวก. โดยเป็นผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยการเกษตรที่สามารถนำผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือเชิงสาธารณะ ต้องเป็นโครงการวิจัยที่มีการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และมีผลกระทบเชิงบวกที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และ การใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ รวมทั้งสิ้น 10 รางวัล ซึ่งผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัล “ผลงานเด่น สวก.” จะได้รับโล่เกียรติยศและเกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัล ๆ ละ 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) โดยมีรายละเอียดโครงการวิจัยที่ได้รับรางวัลดังต่อไปนี้
1. โครงการ: การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวนึ่งกล้องเริ่มงอกเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
โดยศาสตราจารย์ ดร.อรอนงค์ นัยวิกุล ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ข้าวกล้องแม้จะมีคุณค่าโภชนาการสูง แต่หุงยาก เนื้อสัมผัสแข็ง และเก็บรักษาได้ไม่นาน การบริโภคจึงจำกัดอยู่เฉพาะผู้ที่สนใจจริงจังด้านสุขภาพเท่านั้น นักวิจัยไทยจึงพยายามพิชิตโจทย์นี้ โดยพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการแปรรูป จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในนามของ “ข้าวนึ่งกล้องเริ่มงอก” มีจุดเด่นคือ เมื่อข้าวผ่านกรรมวิธีการผลิตที่นักวิจัยไทยพัฒนาขั้นนี้ ทำให้เมล็ดข้าวมีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีของข้าวในระยะเริ่มงอก และเมื่อนำมาหุงได้ข้าวรสชาติดี เนื้อสัมผัสนุ่ม หุงง่าย อีกทั้งเก็บรักษาได้นานกว่าข้าวกล้องปกติ โดยนักวิจัยได้ทดลองเปรียบเทียบกับข้าว 4 พันธุ์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง คือ ข้าวพันธุ์สันป่าตอง 1 ข้าวชัยนาท 1 ข้าวสินเหล็ก และข้าวไรซ์เบอร์รีโดยเพิ่มขั้นตอนการทำข้าวเปลือกให้เป็นข้าวเปลือกเริ่มงอก ก่อนนำไปนึ่งเป็นข้าวเปลือกนึ่ง และการกะเทาะข้าวเปลือกออกเป็นข้าวกล้องที่ยังมีคัพภะติดอยู่ ซึ่งวิธีการใหม่ที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถตรวจสอบและวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ได้ว่าข้าวมีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีหรือวิธีการที่มีอยู่เดิม เช่น มีสารแกมมา-แอมิโนบิวทิริกแอซิด เพิ่มขึ้นจากข้าวกล้องปกติถึง 7-9 เท่า จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้สนใจด้านสุขภาพและโภชนาการ และยังมีส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการ หากสามารถสนับสนุนผลิตภัณฑ์นี้ให้แพร่หลาย คนไทยหันมานิยมบริโภคข้าวที่มีสารอาหาร มีคุณค่าโภชนาการสูงได้ต่อเนื่องสุขภาวะโดยรวมของผู้บริโภคก็จะแข็งแรงขึ้นลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งในระดับบุคคลและงบประมาณภาครัฐ
2. โครงการ: การพัฒนาการผลิต ฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ ผงจากน้ำเชื่อมลำไยด้วยวิธีทางเอนไซม์ และโครงการ: ขยายผลเพื่อสำรวจและทดสอบตลาดของผลิตภัณฑ์พรีไบโอติก ฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์จากน้ำเชื่อมลำไย
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล สาขาวิชาทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีงานวิจัยเรื่องแปรรูปลำไยเป็นน้ำเชื่อมลำไยมาก่อนหน้านี้เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด คณะวิจัยจึงนำงานวิจัยชิ้นดังกล่าวมาต่อยอด โดยมีแนวคิดว่าเทรนด์ของอาหารสุขภาพได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก คนจำนวนไม่น้อยมีปัญหาเรื่องระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ซึ่ง FOS สามารถตอบโจทย์ได้และจัดเป็นน้ำตาลชนิดดีที่เป็นอาหารสำหรับเชื้อจุลินทรีย์ในร่างกาย ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และบริโภคแล้วไม่ทำให้ฟันผุ เพราะเอนไซม์จึงย่อยไม่ได้ โดยเริ่มจากนำเนื้อลำไยมาคั้นเป็นน้ำแล้วใช้ความร้อนฆ่าเชื้อและกำจัดตะกอนออก จากนั้นนำมาระเหยภายใต้สูญญากาศให้เป็นน้ำเชื่อมลำไยเข้มข้นสูงโดยยังคงกลิ่นรสเฉพาะตัวของลำไย ก่อนนำไปทำปฏิกิริยาต่อด้วยกระบวนการทางเอนไซม์ โดยคำนวณหาสัดส่วนของเอนไซม์ ระยะเวลาการทำปฏิกิริยาที่เหมาะสม ซึ่งกระบวนการนี้ได้มีการยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรไว้แล้ว ในงานวิจัยนี้ทำเป็น 2 รูปแบบคือแบบไซรัปและแบบผง ทำให้มูลค่าของ FOS สูงขึ้นมาก เมื่อเปรียบเทียบราคาผลิตภัณฑ์จากลำไยที่แปรรูปทั่วไป เช่นอบแห้ง ลำไยกระป๋องในน้ำเชื่อม ฯลฯ ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรให้สูงขึ้น และเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว
3. โครงการ: ปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันแบบก้าวกระโดดและโครงการต้นแบบในการขยายผลปาล์มน้ำมันไปสู่เกษตรกร
โดย ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง สถาบันจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และโครงการ: การขยายพันธุ์ของต้นแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ปาล์มน้ำมันจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอราในอนาคต โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ห้องปฏิบัติดีเอ็นเอเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนโครงการนี้ทางคณะนักวิจัยได้คัดเลือกปาล์มแม่พันธุ์ดูรา (Dura) ซึ่งมีกะลาหนา ให้ผลผลิตสูง เปอร์เซ็นต์น้ำมันต้ำกับปาล์มพ่อพันธุ์พิซิเฟอรา (Pisifera) ซึ่งมีกะลาบาง เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง และผสมกันได้เป็นปาล์มลูกผสมพันธุ์เทเนอรา (Tenera) กะลาบาง ให้ผลผลิตต่อทะลายมาก เปอร์เซ็นต์ น้ำมันสูง และต้นไม่สูงมาก ทำให้ง่ายต่อการเก็บผลผลิต สามารถเติบโตได้ในสภาพพื้นที่หลากหลาย ซึ่งจากการนำไปทดลองปลูกในพื้นที่บางจังหวัดของภาคอิสาน พบว่าปาล์มให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ จากนั้น สวก. ได้สนับสนุนให้จัดทำโครงการต้นแบบขยายจำนวนต้นกล้าปาล์มพันธุ์เทเนอรา จำนวน 100,000 ต้น กระจายสู่มือเกษตรกร แต่เนื่องจากการขยายด้วยการเพาะเนื้อเยื่อนั้นมีต้นทุนสูง คณะวิจัยจึงขยายผลต่อด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพ่อแม่พันธุ์ปาล์มสู่บริษัทเอกชน ซึ่งทำให้ได้ต้นพ่อแม่พันธุ์มีคุณภาพเสมอกันและมีจำนวนมากขึ้น สำหรับการนำมาสร้างเมล็ดลูกผสมซึ่งต้นทุนต่ำกว่าการเพาะเนื้อเยื่อลูกผสมความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาปาล์มน้ำมันทั้งในการปรับปรุงพันธุ์ คุณภาพและปริมาณผลผลิตนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถยกระดับการแข่งขันและมีความมั่นคงทางอาหารและพลังงานในอนาคต โดยคณะวิจัยได้ยื่นจดสิทธิบัตรของเทคโนโลยีที่ค้นพบส่วนหนึ่งจากโครงการนี้ในประเทศยักษ์ใหญ่ของวงการปาล์มน้ำมัน ได้แก่ มาเลเซีย คอสตาริกา เป็นต้น
4. โครงการ: การพัฒนาเชื้อราไตรโคเดอร์มาปฏิปักษ์ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดโรคข้าวเป็นชีวภัณฑ์ เชิงพาณิชย์และโครงการขยายผลเพื่อสำรวจและทดสอบตลาดของผลิตภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.จิระเดช แจ่มสว่าง คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
เกษตรกรไทยประสบปัญหาหลักอยู่ 2 ประการ ได้แก่ โรคข้าวที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคเมล็ดด่างโรคใบจุดสีน้ำตาล โรคใบขีดสีน้ำตาล โรคกาบใบเน่า และโรคกาบใบแห้ง ซึ่งนอกจากทำให้ผลผลิตข้าวต่อรวงน้อยลงแล้ว ยังทำให้คุณภาพของเมล็ดข้าวด้อยลงด้วย ปัญหาอีกประการคือ ต้นทุนของสารเคมีที่ใช้ควบคุมศัตรูพืชซึ่งส่วนใหญ่มีราคาค่อนข้างสูงและมีแนวโน้มว่าศัตรูพืชจะดื้อต่อสารเคมีเพิ่มมากขึ้นเชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ศึกษาโรคพืชและจุลินทรีย์มานาน จุดเด่นของไตรโคเดอร์มาคือการเป็นปฏิปักษ์กับเชื้อราชนิดต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคพืช ทั่วโลกจึงมีการนำไตรโคเดอร์มาไปทดลองใช้ควบคุมโรคบนพืชหลายชนิดแต่ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ทดลองใช้กับข้าวอย่างจริงจังคณะวิจัยได้บุกเบิกการนำไตรโคเดอร์มาใช้กับนาข้าว และพบว่าไตรโคเดอร์มาแม้จะเป็นเชื้อราในดิน แต่เติบโตได้ดีในน้ำ โดยเชื้อราที่ฝังตัวอยู่ในรากข้าวจะกระตุ้นให้ข้าวส่งสัญญาณไปทั่วต้นข้าวให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ข้าวแข็งแรงปลอดโรคโดยวิธีธรรมชาติ งานทดลองนี้จึงมีคุณประโยชน์ยิ่งต่อเกษตรกร ผู้บริโภค ผู้ส่งออกระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นการแก้ปัญหาทั้งสองประการนี้ คณะนักวิจัยได้นำเชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ที่สามารถกำจัดโรคพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพมาส่งเสริมให้เกษตรกรได้นำไปใช้ในกระบวนการปลูกข้าว เพียงนำหัวเชื้อไตรโคเดอร์มามาเลี้ยงและขยายจำนวนโดยใช้ข้าวหุงเป็นอาหารให้กับเชื้อเมื่อครบตามกำหนดเวลาก็ชะล้างเชื้อออกจากเมล็ดข้าว จะได้เป็นน้ำเชื้อสดที่สามารถใช้ในการแช่เมล็ดพันธุ์ข้าว หรือใช้ฉีดพ่นในนาได้ แม้วิธีการนี้จะมีต้นทุนต่ำแต่ไม่เป็นที่นิยมของเกษตรกร คณะนักวิจัยจึงพัฒนาไตรโคเดอร์มาให้เป็นชีวภัณฑ์สำเร็จรูปพร้อมใช้ เป็นแบบชนิดเม็ดบรรจุในซองฟอยล์โดยเกษตรกรสามารถนำผลิตภัณฑ์นี้ไปใช้ในกระบวนการทำนาได้ทันทีด้วยการนำเมล็ดข้าวไปแช่ในน้ำสปอร์ที่ได้จากการนำเม็ดเชื้อราไตรโคเดอร์มาผสมน้ำ แล้วกวนให้แตกตัว ใช้น้ำสปอร์ไตรโคเดอร์มาฉีดพ่นใบ หรือปล่อยไปกับระบบน้ำที่สูบเข้านาจากการทดลองเปรียบเทียบ พบว่านาข้าวที่มีการใช้ไตรโคเดอร์มาจะมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสามารถลดความเสียหายที่เกิดจากโรคข้าว และข้าวเจริญเติบโตได้ดีขึ้นด้วยการคัดเลือกสายพันธุ์ไตรโคเดอร์มาและพัฒนาเป็นชีวภัณฑ์สำเร็จรูปมีศักยภาพเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในประเทศ เพราะง่ายต่อการใช้งานและมีความปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ใช้รวมถึงผู้บริโภคด้วยและที่สำคัญ ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันตลาดข้าวของประเทศไทยในที่สุด
5.โครงการ: ต้นแบบการผลิตพันธุ์ปลากะรังที่มีมูลค่าสูงเชิงพาณิชย์
โดย ดร.วารินทร์ ธนาสมหวัง กองผู้เชี่ยวชาญ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปลากะรังเป็นปลาเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เป็นที่ต้องการของตลาด มีราคาขายสูง แต่ยังเพาะเลี้ยงได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการโดยเฉพาะชนิดที่เพาะเลี้ยงยาก เช่น ปลาจุดฟ้าอันดามัน ปลากะรังเสือ ปลาหมอทะเล กรมประมงมีความรู้เดิมที่ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปลากะรังมาโดยตลอด ได้ทำวิจัยและสามารถเพาะพันธุ์ลูกปลากะรังดอกดำและปลากะรังดอกแดง ตั้งแต่ปี 2531-2540 จึงนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาต่อยอดทำงานวิจัยชิ้นนี้การได้มาของปลากะรังมี 2 แบบคือ เกษตรกรไปจับปลาจากแหล่งธรรมชาติซึ่งในปัจจุบันมีปริมาณปลาน้อยลงเป็นอย่างมากจากปัญหาการจับสัตว์น้ำเกินขนาด และอีกส่วนเกษตรกรทำการเพาะเลี้ยงเองโดยส่วนใหญ่นำเข้าพันธุ์ปลาจากต่างประเทศ การจำหน่ายได้ราคาดี ราคาปลาจุดฟ้าอันดามันสูงถึงกิโลกรัมละ 800-1,200 บาท ปลาหมอทะเล 500-600 บาท ปลาเก๋าเสือ 350-450 บาท และการส่งออกก็จะได้ราคาดีถ้าเป็นปลามีชีวิต ลูกค้าสำคัญของไทยคือ จีน ฮ่องกง ที่นิยมนำปลาไปใส่ในตู้โชว์ตามร้านอาหาร ให้ลูกค้าเป็นผู้เลือกก่อนนำไปปรุง
จุดเด่นของโครงการนี้คือเป็นการศึกษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่พ่อแม่พันธุ์ อาหารของพ่อแม่พันธุ์ ตัวอ่อน อาหารของตัวอ่อน และโรคของปลากะรัง เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกใหม่ให้แก่เกษตรกรในการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาที่มีราคาจำหน่ายสูง และส่งเสริมศักยภาพประเทศไทยในการส่งออกปลากะรังมูลค่าสูงสู่ตลาดต่างประเทศ รวมถึงช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของท้องทะเลไทย โดยการรักษาพันธุ์ปลากะรังในธรรมชาติ จึงมีส่วนสนับสนุนอาชีพทางเลือกใหม่ให้เกษตรกร ให้สามารถเพาะเลี้ยงปลาที่มีมูลค่าสูงกว่าปลาที่เพาะเลี้ยงอยู่ในปัจจุบัน ช่วยให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนในอนาคต ลดการนำเข้าพันธุ์ปลาจากต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็ลดการรบกวนธรรมชาติและอนุรักษ์พันธุ์ปลากะรังในธรรมชาติไปพร้อมกัน และนอกจากนี้ สวก. ยังร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสนับสนุนให้ “จุดฟ้าอันดามัน”กลายเป็นรายการอาหารพิเศษเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว หากทำได้สำเร็จจะช่วยสร้างรายได้สร้างอาชีพแก่ผู้เกี่ยวข้องอีกมากมาย และยังสนับสนุนการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย
6.โครงการ: การพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดและการผลิตไข่มุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์
โดย นางสาวอ้อมเดือน มีจุ้ย นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุพรรณบุรี กรมประมง และโครงการ: การพัฒนาอาหารในกระบวนการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์ โดย ดร.วชิระ กิติมศักดิ์นักวิชาการประมงชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมงจากการสำรวจและรวบรวมพันธุ์หอยกาบน้ำจืดในประเทศไทย พบว่ามีพันธุ์หอยกาบน้ำจืดมากถึง72 ชนิด หอยกาบหลายชนิดเมื่อนำมาขัดเปลือกจะเห็นชั้นมุกที่สวยงาม สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เครื่องใช้ รวมถึงเครื่องเรือนมุกได้ภายใต้พรจากธรรมชาติผสานกับความสามารถของนักวิจัยไทย ทำให้นักวิจัยไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์หอยมุกน้ำจืดชนิด Chamberlainia hainesiana (C. hainesiana) ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ เป็นหอยกาบสองฝาขนาดใหญ่ มีความยาวเปลือก 18-20 เซนติเมตร เปลือกหนา ภายในมีความแวววาวของชั้นมุก ที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการเพาะเลี้ยงไข่มุกน้ำจืด และสิ่งที่พิเศษไปกว่านั้นคือ สามารถสร้างมุกที่มีความแวววาว สีสันสวยงามแปลกตา เช่นสีขาว สีชมพู สีม่วง สีเขียว สีฟ้า ฯลฯ ซึ่งโดยปกติแล้วไข่มุกสีเขียว สีฟ้าจะพบเฉพาะในมุกทะเลเท่านั้น แต่ขณะนี้ สายพันธุ์หอยกาบน้ำจืดที่ไทยพัฒนาขึ้นถือเป็นหนึ่งเดียวของโลกที่สามารถผลิตไข่มุกสีเขียว สีฟ้าได้
แม้ประเทศไทยจะมีทรัพยากรธรรมชาติชั้นเลิศ แต่การเพาะเลี้ยงหอยดังกล่าวยังมีอัตราการรอดต่ำเพียง 1-6% เท่านั้น จึงไม่สามารถขยายผลเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มที่ สวก. จึงได้สนับสนุนงานวิจัยโครงการ “การพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดและการผลิตไข่มุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์” เพื่อศึกษาระบบการเพาะพันธุ์และอนุบาลหอยมุกน้ำจืดทั้งในระบบปิดหรือกึ่งปิด พัฒนารูปแบบการเลี้ยงหอยมุกให้มีอัตราการเติบโตที่ดี รวมถึงพัฒนาเทคนิคในการผลิตไข่มุกให้ได้รูปร่าง ขนาด และสีสันตามความต้องการของตลาดเมื่อโครงการดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง พบว่าหอยมีการเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร จึงนำมาสู่โครงการต่อเนื่องคือ“การพัฒนาอาหารในกระบวนการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์” เพื่อศึกษาอาหาร(แพลงก์ตอน) ทั้งชนิดและปริมาณที่เหมาะสมสำหรับหอยมุกน้ำจืด เป้าหมายโครงการมุ่งให้การเพาะเลี้ยงหอยมีอัตราการรอดสูงขึ้นเป็น 80%ซึ่งจะช่วยจุดประกายฝันที่เป็นไปได้ของประเทศไทยในการเป็นผู้นำการผลิตไข่มุกน้ำจืดของโลก ปัจจุบัน วันหนึ่งข้างหน้า ไข่มุกน้ำจืด ไข่มุกเมืองกาญจน์อาจกลายเป็นหนึ่งในสินค้าแบรนด์ไทยที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และสร้างโอกาสเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย
7.โครงการ: การวิจัยและพัฒนาหัวตรวจวัดสารแคปไซซิน โดยเทคนิคทางเคมีไฟฟ้าและสร้างดัชนีสัมพันธ์ความเผ็ดเพื่อการบ่งชี้ความเผ็ดสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบและคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกพริกและอาหารแปรรูปจากพริกรายใหญ่ แต่พบว่าขาดการควบคุมคุณภาพสินค้าในด้านความเผ็ด หากสามารถควบคุมและแจ้งไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์เพื่อบ่งชี้ความเผ็ดว่าน้อย เผ็ดปานกลาง หรือเผ็ดมาก จะเป็นจุดขายและแสดงถึงมาตรฐานของสินค้าประการสำคัญ องค์การมาตรฐานสินค้าระหว่างประเทศ (Codex) ได้ประกาศใช้มาตรฐาน GM Labeling และ Guideline ของสินค้าพืชเมื่อปี 2554 ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าพริกและซอสพริก โดยให้มีการระบุความเผ็ดของพริกในฉลากส่งออก จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องพยายามดำเนินการตามมาตรฐาน
การวัดค่าความเผ็ดคือการวัดค่าปริมาณสารแคปไซซิน โดยมีหน่วยวัดเรียกว่า “สโควิลล์” หรือ SHU (Scoville Heat Unit) นิยมใช้เครื่องวัด High Performance Liquid Chromatography (HPLC) ที่มีความแม่นยำสูง วัดได้ที่ความเข้มข้นต่ำ แต่เครื่องมือมีราคาสูง และมีขั้นตอนการเตรียมสารที่ยุ่งยาก ต้องใช้ผู้ชำนาญการในการดูแลเครื่องทำให้ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากที่เป็น SMEs ไม่สามารถจัดหาเครื่องดังกล่าวสำหรับการใช้งาน คณะนักวิจัยนำ จึงได้คิดค้นเครื่องวิเคราะห์ปริมาณสารแคปไซซินและไดไฮโดรแคปไซซินด้วยวิธีการทางเคมีไฟฟ้าซึ่งมีต้นทุนไม่สูง ดูแลรักษาง่าย สามารถใช้ซ้ำหรือใช้แล้วทิ้ง ใช้ระยะเวลาตั้งแต่หยดสารจนเสร็จสิ้นการประมวลผลสั้นเพียง 2 นาที และไม่ต้องอาศัยการควบคุมโดยผู้ชำนาญการเครื่องดังกล่าวจะบอกค่าความเผ็ดเป็นหน่วยทางไฟฟ้า และนำมาแปลงเป็นหน่วย SHU ได้ตามหลักสากล ซึ่งใช้วัดได้ทั้งแบบบสารสกัดแคปไซซิน และวัดอาหารที่มีการแปรรูปหรือมีการผสมแล้ว จึงคาดว่าหากมีการนำไปใช้ในสถานประกอบการมากขึ้น จะเป็นการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารของไทยซึ่งมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี
8.โครงการ: ออกแบบสร้างเครื่องให้ความร้อนแบบไดอิเล็กตริกสำหรับฆ่ามอด
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และโครงการ: การสร้างเครื่องมือต้นแบบและพัฒนาวิธีการในการกำจัดด้วงงวงข้าวในข้าวสารโดยเทคโนโลยีจากคลื่นความถี่วิทยุเพื่ออาหารที่สะอาดและปลอดภัย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา เวียรศิลป์ ศูนย์วิจัยและวัฒนธรรมข้าวล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเทคโนโลยี หลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปัจจุบันในโกดังหรือไซโลเก็บข้าวจะพบการปนเปื้อนและเข้าทำลายข้าวของด้วงเต็มวัย ไข่ หนอนดักแด้จะอาศัยและเติบโตอยู่ในเมล็ด ซึ่งเป็นการทำลายข้าวและเพิ่มความชื้นให้กับข้าวโดยรวมที่อาจก่อให้เกิดเชื้อราและเชื้อโรคอื่นๆ ตามมา เพื่อป้องกันความเสียหายนี้ ผู้ประกอบการจึงต้องใช้สารเคมีในการรมฆ่ามอดคือ เมทิลโบรไมด์ แต่พบว่าการรมสารดังกล่าวไม่สามารถฆ่าไข่และหนอนที่ซ่อนตัวอยู่ภายในเมล็ดข้าวสารได้ อีกทั้งยังต้องใช้สารเคมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในการรมซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองแรงงานและค่าใช้จ่ายเพราะต้องรมนานถึง 24-48 ชั่วโมง และสารนี้ยังมีฤทธิ์ทำลายชั้นโอโซนด้วยปัญหาต่างๆ เหล่านี้ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจึงมีการประกาศห้ามใช้สารเมทิลโบรไมด์ภายในปี 2015 นี้ ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกข้าวของไทยต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บรักษาข้าวด้วยเช่นกัน และแม้จะมีสารเคมีตัวเลือกอื่น เช่น ฟอสฟีน แต่ก็นับเป็นสารเคมีชนิดก๊าซที่มีอันตรายและต้องใช้ระยะเวลาในการรมนาน 7-9 วัน ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนด้านสินค้าคงคลัง ดังนั้นคณะนักวิจัยจึงเห็นความสำคัญของการค้นหาทางเลือกใหม่ในการกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพและต้องมีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคอีกทั้งต้นทุนไม่สูงเกินไป เพื่อให้ข้าวไทยสามารถรักษาศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก
ด้วยเหตุนี้ สวก. จึงให้การสนับสนุนงานวิจัยเพื่อศึกษาและพัฒนาวิธีการกำจัดมอดที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค โดยฝีมือทีมนักวิจัยไทย ผู้ค้นพบเทคนิคใหม่ โดยใช้หลักการค่าความต่างทางไดอิเล็กตริกมอดที่แตกต่างจากข้าวมาประยุกต์ใช้ประโยชน์โดยนักวิจัยได้ออกแบบวงจรให้มีค่าความถี่คลื่นวิทยุที่จำเพาะต่อการกำจัดมอด และเมื่อข้าวกับมอดเคลื่อนตัวผ่านวงจรนี้พร้อมกัน ตัวมอดและไข่มอดจะรับพลังงานจากคลื่นที่จำเพาะนี้จนเกิดเป็นความร้อนและตาย ในขณะที่ข้าวไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย เทคนิคนี้สามารถกำจัดตัวมอดและไข่มอดได้ถึง 100% จึงนับเป็นงานวิจัยที่สร้างประโยชน์อย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมข้าวไทย
นอกจากนี้ หลักการไดอิเล็กตริกยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิตหรือศัตรูพืชอื่นๆ ได้ โดยอาศัยหลักการของเหลวในสิ่งมีชีวิตที่สามารถเหนี่ยวนำคลื่นความถี่วิทยุให้เกิดเป็นความร้อนที่ต้องคำนึงถึงการวิเคราะห์และออกแบบการให้ความร้อนไดอิเล็กตริกที่เหมาะสมกับแมลงแต่ละชนิดด้วยเครื่องมือนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนของวงจร แผ่นเพลท และไซโลสำหรับป้อนข้าวเข้าสู่ตัวเครื่อง ซึ่งทั้งสามส่วนนี้ต้องออกแบบและผ่านการคำนวณตัวแปรที่เกี่ยวข้องอย่างแม่นยำ ทั้งย่านความถี่ที่ใช้งาน รูปแบบการแพร่กระจายคลื่นเข้าสู่ตัวกลาง การดูดกลืนหรือการสูญเสียคลื่นความถี่และกำลังงานที่ต้องใช้ โดยผลจากการทดลองกับโลหะหลายชนิด พบว่าทองแดงเป็นโลหะที่สามารถแพร่กระจายคลื่นได้ดีที่สุด
ที่ผ่านมาในประเทศไทยและทั่วโลกมีการประยุกต์ใช้คลื่นความถี่วิทยุกับงานด้านต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น ด้านโทรคมนาคม การสื่อสาร ฯลฯ แต่การประยุกต์ใช้งานกับภาคการเกษตรยังมีไม่มากนัก ซึ่งวิธีการใหม่นี้ไม่เพียงกำจัดมอดข้าวและไข่มอดอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังประหยัด ไร้สารเคมีตกค้าง จึงช่วยยกระดับคุณภาพของข้าวไทยให้ก้าวสู่การเป็น Food Safety ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เมื่อสารเมทิลโบรไมด์ถูกห้ามใช้ในปี 2558 ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศผู้ส่งออกข้าวรายอื่นๆ ยังไม่พบวิธีการอื่นทดแทนที่ได้ผลดีกว่าหรือเทียบเท่าการใช้สารเคมี จะถือได้ว่าประเทศไทยเป็นผู้ก้าวนำเทคโนโลยีก่อนก้าวหนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและส่งเสริมศักยภาพของประเทศในเวทีการค้าข้าวโลก
9.โครงการ: พัฒนาชุดตรวจสอบไวรัสอย่างง่ายและเทคนิคการผลิตกล้วยไม้ปลอดโรคไวรัส
โดย นางสุรภี กีรติยะอังกูร สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไทยเป็นผู้นำในการส่งออกกล้วยไม้และหวายเขตร้อน โดยมีทั้งบริการรับเพาะเนื้อเยื่อ การส่งออกต้นกล้วยไม้และแบบตัดดอก นำรายได้เข้าประเทศในปี 2556 สูงถึง 4,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังที่ต่างประเทศได้มีข้อกำหนดเรื่องการนำเข้ากล้วยไม้ปลอดไวรัส เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจึงต้องตื่นตัวในการเพิ่มคุณภาพของกล้วยไม้และคัดกรองต้นที่ปลอดเชื้อก่อนส่งออก ปัจจุบันกล้วยไม้จำนวนมากพบโรคระบาดจากโรคและแมลง ซึ่งเชื้อไวรัสเป็นภัยเงียบที่ทำให้ผลผลิตลดลงในเชิงปริมาณและความงาม ต้นทรุดโทรม และเกิดเป็นแผลในส่วนต่างๆ แต่เกษตรกรเข้าใจผิดว่าเกิดจากแมลง และขาดข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ คณะนักวิจัยจึงเก็บข้อมูลตั้งแต่การเพาะเนื้อเยื่อ การปลูกต้นอ่อน จนเติบโตเป็นต้นระยะให้ดอก พบว่าต้นที่มีเชื้อไวรัสจะให้ผลผลิตต่ำกว่าต้นที่ปลอดไวรัสในทุกระยะ ตั้งแต่ขั้นโปรโตคอร์ม แคลลัส แยกเป็นหน่อ เจริญเป็นต้นและให้ดอก
จากการสำรวจ คณะนักวิจัยพบเชื้อไวรัส CyMV มากในกล้วยไม้ลูกผสมสกุลหวาย สกุลแวนด้า สกุลสาวน้อยเต้นระบำ และสกุลฟาแลนน็อปซิสในอัตรา 30-100% และแม้จะพบไวรัส ORSV ในอัตราที่น้อยกว่าคือเฉลี่ย 20-50% ส่วนไวรัส PhCSV ไทยไม่ใช่แหล่งกำเนิด แต่พบมากในกล้วยไม้นำเข้าจากไต้หวันและญี่ปุ่นแต่เดิมนั้นกรมวิชาการเกษตรได้ผลิตและจำหน่ายชุดตรวจสอบไวรัส 2 ชนิดคือ CyMV และ ORSV เทคนิคการตรวจใช้ระยะเวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมงและต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจคณะนักวิจัยจึงหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกให้สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสได้เองด้วยต้นทุนที่ต่ำ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สวก. และได้เป็นชุดตรวจไวรัสแบบง่าย POCy KIT ที่สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสได้ถึง 3 ชนิดในตลับเดียวกัน คือเชื้อ CyMV เชื้อ ORSV และเชื้อPhCSV ในราคาที่ย่อมเยาชุดตรวจไวรัสนี้นอกจากจะช่วยผู้ประกอบการส่งออกให้ตรวจได้เอง และทราบผลได้รวดเร็วภายในระยะเวลา 5 นาทีแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องในวงการกล้วยไม้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ห้องแล็บที่บริการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อซึ่งระยะหลังมีออร์เดอร์จากต่างประเทศมากขึ้น หากสามารถคัดกรองต้นพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ให้ปลอดไวรัสก่อนนำมาขยายพันธุ์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็จะทำให้บริการมีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อเติบโตเป็นต้นจำหน่ายไปสู่เกษตรกรหรือฟาร์มกล้วยไม้ต้นก็จะสมบูรณ์ ให้ผลผลิตดอกสูง ไม่โทรมเร็วมีอายุยาวกว่าต้นที่ติดเชื้อ วงรอบในการเปลี่ยนต้นจะนานกว่า ดังนั้นเกษตรกรหรือผู้ประกอบการฟาร์มก็ย่อมจะประหยัดต้นทุนมากกว่าด้วย
10.โครงการ: พัฒนาการผลิตพรรณไม้น้ำปลอดไส้เดือนฝอยศัตรูพืชเพื่อการส่งออก
โดย ดร.นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จากวิกฤตการณ์การส่งออกไม้น้ำของประเทศไทยในปี 2550 ไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป(EU) ตรวจพบไส้เดือนฝอย Radopholus similis ติดไปกับรากไม้น้ำสกุล Anubias spp. และไส้เดือนฝอย Hirschmanniella sp. ติดไปกับรากไม้น้ำสกุล Vallisneria sp. มากถึง 5 ครั้ง ทำให้ถูกระงับการนำเข้าและเผาทำลายไม้น้ำเหล่านั้นทั้งล็อต โดยมีการตรวจพบปัญหาเดียวกันสืบเนื่องมาจนถึงปี 2551 อีกถึง 11 ครั้ง จากเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกพรรณไม้น้ำของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมีการส่งออกไม้น้ำกว่า 96 ชนิดไป 74 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นมูลค่าหลายสิบล้านบาทต่อปีไส้เดือนฝอยนี้แม้ไม่ได้ทำลายพรรณไม้น้ำโดยตรงแต่อาจแพร่พันธุ์และไปทำลายรากพืช รากไม้ประดับอื่นๆ ของประเทศผู้นำเข้า ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องดำเนินการตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าคือสุ่มตรวจไส้เดือนฝอยก่อนมีการส่งออก ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเองได้ให้บริการนี้อยู่แล้ว โดยกรมวิชาการเกษตรจะสุ่มส่งพรรณไม้น้ำตัวอย่างมายังห้องทดลองเพื่อทำการปั่นราก กรอง และตรวจหาด้วยกล้องจุลทรรศน์หรือใช้วิธีการแยกตะกอนด้วยแรงเหวี่ยงด้วยเครื่อง Centrifuge ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ต้องใช้เวลาและต้นไม้ที่นำมาสุ่มตรวจต้องถูกตัดราก และในบางช่วงทำให้ปริมาณงานมีมากขึ้นจนไม่ทันกับการให้บริการผู้ประกอบการส่งออก
ทีมนักวิจัยไทยจึงพยายามหาทางออกเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและเพื่อแก้ปัญหาของประเทศในระยะยาว โดยได้ค้นพบวิธีแช่พรรณไม้น้ำในน้ำที่ปล่อยคลื่นเสียงอัลตราโซนิก ซึ่งคลื่นจะทำให้เกิดฟองอากาศเล็กๆ ไปรบกวนไส้เดือนฝอยให้เคลื่อนตัวออกมาจากรากไม้น้ำโดยรากและต้นไม้ไม่ถูกทำลาย จากนั้นจึงนำน้ำไปตรวจหาไส้เดือนฝอยในขั้นตอนต่อไป เมื่อได้ผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจแล้วจึงมีการพัฒนาเป็นเครื่องตรวจสำเร็จรูปสะดวกต่อผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ที่ด่านกักกันพืชทั่วประเทศ ซึ่งได้มีการออกแบบเครื่องตรวจออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้คือ 1. NEMA KIT ชุดตรวจไส้เดือนฝอยขนาดพกพา ใช้คลื่นเสียงความถี่ 40 กิโลเฮิรตซ์สามารถแยกไส้เดือนฝอยออกจากรากหลังจากเปิดใช้งานประมาณ 20 นาที มีขนาดเล็กสามารถหิ้วไป ในแปลงปลูกหรือห้องปฏิบัติการตรวจรับรองพืช ด่านตรวจพืชนำเข้า-ส่งออกได้ และเพิ่มความสะดวกในการใช้งานโดยมีชิ้นส่วนกล้องขยายที่ต่อเชื่อมพอดีกับกล้องโทรศัพท์มือถือไอโฟน พื่อให้ผู้ทำงานภาคสนามใช้ถ่ายรูปและส่งข้อมูลไปยังผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยได้ทันที 2.DRIPPING HAMBERS ชุดตรวจแยกไส้เดือนฝอยศัตรูพืชเข้าทำลายรากพืชพัฒนามาจากชุดตรวจแยกแบบพ่นหมอกมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ขั้นตอนการปฏิบัติที่ไม่ยุ่งยาก สามารถนำไปใช้ในแปลงปลูกหรือห้องปฏิบัติการตรวจรับรองพืชบริเวณด่านตรวจนำเข้า-ส่งออก จากการพัฒนาและคิดค้นเครื่องมือข้างต้นทำให้สามารถตรวจหาไส้เดือนฝอยศัตรูพืชได้ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดแยกต้นพ่อแม่พันธุ์ก่อนนำลงเลี้ยงในบ่อซึ่งถือเป็นการป้องกันที่ต้นตอของสาเหตุ และด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อนนี้ทำให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่สามารถตรวจสอบได้เอง ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงในภาคการส่งออก ช่วยให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติ ตลอดจนยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติให้เติบโตมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้สนใจโครงการวิจัยต่าง ๆ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) - สวก. ที่หมายเลข 02-579-7435 แฟกซ์ 0-2579-8413 หรือคลิกเข้าไปดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.arda.or.th
ข้อมูลจาก
blognone.com/node/65162