ดอกขจร ปลูก 1 ไร่ ขายได้วันละ 3,000 บาท


ขจรพืชพื้นบ้านไม่ควรมองข้าม ปลูกพื้นที่1ไร่รายได้วันละ3พัน

จากเดิมที่ บุญทัน วงศ์โพธิ์ หนุ่มใหญ่วัย 45 ปี ใช้พื้นที่กว่า 15 ไร่ ปลูกมันสำปะหลังและทำนาข้าวที่บ้านหม้อ ต.คูคำ อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น แต่ชีวิตอยู่อย่างลุ่มๆ ดอนๆ มีกินมีใช้ไปวันๆ แต่หลังจากที่หันมาปลูก "ขจร" หรือสลิดขายดอก ได้เพียง 2 ปี ฐานะความเป็นอยู่พลิกราวฟ้ากับดิน เพราะรายได้จากการขายดอกขจรหรือดอกสลิดนั้น ตกวันละ 3,000 บาท เช่นเดียวกับ หนูอาจ เฝ้าหอม เกษตรกรวัย 56 ปี เพิ่งปลูกขจรในพื้นที่ 1 ไร่เช่นกัน ในช่วงที่ขจรยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ก็ปลูกกวางตุ้งใต้ห้างแปลงขจร ทำให้มีรายวันละ 3,500 บาท

บุญทัน บอกว่า ก่อนที่จะยึดอาชีพปลูกขจรเพื่อเก็บดอกขายนั้น เคยทำไร่มันสำปะหลังมาก่อนในพื้นที่ 10 ไร่ และทำนาข้าวไว้กินเองอีก 5 ไร่ แต่รายได้ไม่ค่อยเพียงพอ เนื่องจากราคาผลผลิตมันสำปะหลังตกต่ำมาตลอด พอดีเห็นเพื่อนที่อยู่ต่างอำเภอ ปลูกขจรหรือสลิดเพื่อขายดอก มีรายได้ดี จึงปรึกษาหารือกันและเรียนรู้ในการปลูกและดูแลต้นจขร จากนั้นตัดสินใจสร้างห้างทำด้วยไม้ไผ่สูงกว่า 1 เมตร ขนาดกว้างของห้างราว 1 เมตร แล้วไปซื้อต้นกล้าขจรพันธุ์ดอกจากภาคกลางจำนวน 400 ต้นในราคาต้นละ 50 บาท เมื่อ 2 ปีก่อน


หลังจากที่ปลุกขจรได้ 3 เดือน ขจรเริ่มออกดอกเก็บได้วันละ 10-20 กิโลกรัม นำไปขายเองในเมืองขอนแก่นในราคากิโลกรัมละ 100 บาท พอขจรมีอายุ 6 เดือนซึ่งให้ดอกเต็มที่สามารถเก็บดอกขายได้วันละ 40-50 กิโลกรัมขายส่งให้พ่อค้าในตลาดบางลำภู เทศบาลนครขอนแก่นในราคากิโลกรัมละ 60-70 บาท พ่อค้าที่รับซื้อขายต่อในราคากิโลกรัมละ 100 บาท นอกจากนี้ยังมีการขยายต้นกล้าขจรขายอีกด้วย และขณะนี้กำลังจะขยายพื้นที่ปลูกอีก 2 งาน
 "การปลูกขจรเพื่อขายดอกนั้นรายได้ดีมาก แต่ต้องมีเงินในการลงทุนครั้งแรกที่ต้องลงทุนสร้างห้างเพื่อให้ขจรเลื้อย และค่าต้นกล้าซึ่งตอนนี้ราคายังสูงอยู่ ซึ่งต้องลงทุนหลายหมื่นบาท แต่พอปลูกแล้วแต่ละรุ่นเราสามารถเก็บดอกขายได้ทุกวันนานถึง 4 ปี ผมยังมีที่อีกหลายไร่จะขยายไม่ได้เพราะไม่มีคนดูแล เพราะการปลูกขจรต้องดูแลรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวันกรณีฝนไม่ตก การเก็บดอกต้องเก็บทุกวันแบ่งกันเป็น 3 ล็อก วันแรกเก็บล็อกที่ 1 พอวันรุ่งขึ้นเก็บล็อกที่ 2 แล้ววันถัดก็เก็บล็อกที่ 3 หมดแล้วย้อนกลับล็อกที่ 1 อีก" บุณทัน กล่าว    

ด้าน หนูอาจ เฝ้าหอม ซึ่งปลูกขจรอยู่ใกล้กัน บอกว่า เห็นบุญทัน ปลูกขจรมีรายได้ดี แต่ช่วงแรกมีปัญหาตรงที่ไม่สามารถหาต้นกล้าได้ จนบุญทัน ยอมขายต้นกล้าจึงซื้อต้นกล้ามา 260 ต้น พร้อมขยายพันธุ์ต้นกล้าเองด้วย ปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พอปลูกได้ 3 เดือนขจรเริ่มให้ผลผลิตเก็บดอกขายได้แล้ว ตอนนี้สามารถเก็บได้วันละเฉลี่ย 30 กิโลกรัม มีพ่อค้ามาซื้อในราคากิโลกรัมละ 70 บาท

"ตอนที่ปลูกขจรใหม่ๆ ซึ่งขจรยังไม่ออกดอก ป้าเอากวางตุ้งมาปลูกใต้ห้างของแปลงขจร เพราะต้นขจรยังเล็กยังไม่มีรายได้ ตอนต้นขจรยังโตไม่เต็มที่ หรือไม่เต็มห้าง ป้าก็ยังปลูกกวางตุ้งอยู่ ทำให้มีรายได้ 2 ทาง คือในส่วนของขจรจะขายได้วันละ 2,000 บาท ส่วนกวางตุ้งได้ราว 1,500 บาท" หนูอาจ กล่าว
 สำหรับการปลูกของหนูอาจ จะใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น เพื่อประหยัดต้น และเป็นการผลิตพืชผักปลอดสารพิษตามนโยบายของนายอำเภอซำสูง ที่จะให้อำเภอซำสูงเป็นแหล่งผลิตพืชผักปลอดสารพิษป้อนตลาด โดยให้แปลงปลูกขจรทั้งสองแปลงเป็นศูนย์เรียนด้านการเกษตรบ้านหม้อ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเเศรษฐกิจพอเพียงของอำเภอบ้านหม้อนั่นเอง

ขจรนับเป็นพืชผักพื้นบ้านชนิดที่น่าจะจัดเป็นพืชผักเศรษฐกิจตัวใหม่อีกชนิดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากสร้างรายให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นกอบเป็นกำ ขนาดปลูกในพื้นที่ 1 ไร่มีรายได้ถึงเดือนละ 9 หมื่นบาท ขณะที่ตลาดยังต้องการอีกมาก
       
ข้อมูลจาก
- "ดลมนัส  กาเจ"
- komchadluek.net

Popular posts from this blog

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา