สหกรณ์นิคมนครชุมฯสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ปลูกมันสำปะหลังด้วยระบบน้ำหยด


สำนักงานสหกรณ์จังหวัดกำแพงเพชร จึงได้สนับสนุนการดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปมันเส้นสะอาดคุณภาพดีให้กับสหกรณ์นิคมนครชุม จำกัด

การปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทย ที่ผ่านมาเกษตรกรมักประสบกับปัญหาความแห้งแล้งอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้เกิดการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู ซึ่งได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในพื้นที่ 27 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังกว่า 272,600 ไร่ โดยพื้นที่ปลูกกว่า 114,700 ไร่ เป็นมันสำปะหลังอายุระหว่าง 4–8 เดือน ซึ่งเป็นระยะที่จะเก็บเกี่ยวทำให้ได้ผลผลิตลดลง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงคิดนำระบบน้ำหยดเข้ามาใช้เพื่อการปลูกมันสำปะหลัง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำและระบบน้ำ

นายสมศักดิ์ แสนศิริ สหกรณ์จังหวัดกำแพงเพชร เปิดเผยว่า จังหวัดกำแพงเพชร มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันมันสำปะหลังนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชรได้เป็นอย่างดี โดยได้มีการผลักดันให้จังหวัดกำแพงเพชรเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าและนวัตกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง เพื่อพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อาทิ การวิจัยพัฒนาพันธุ์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาเกษตรกร และธุรกิจลานมันให้ได้มาตรฐาน และส่งเสริมผู้ประกอบการให้ควบคุมคุณภาพก่อนนำส่งปลายทาง


สำนักงานสหกรณ์จังหวัดกำแพงเพชร จึงได้สนับสนุนการดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปมันเส้นสะอาดคุณภาพดีให้กับสหกรณ์นิคมนครชุม จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจแปรรูปมันสำปะหลัง เบื้องต้นได้สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ สำหรับให้สหกรณ์กู้ยืมไปช่วยเหลือสมาชิกในการพัฒนาอาชีพการปลูกมันสำปะหลัง และใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการรวบรวมผลผลิตปีละหลายสิบล้านบาท เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตมันสำปะหลัง

นอกจากนี้ยังได้ประสานกับหน่วยงานราชการในพื้นที่เข้ามาให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตร โดยบูรณาการกับกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาถ่ายทอดความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ได้มันสำปะหลังที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ใช้ระบบน้ำหยดเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิต และประสบความสำเร็จ ซึ่งจากเดิมก่อนใช้ระบบน้ำหยดจะได้ผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 3.5-4 ตัน แต่เมื่อมีการนำระบบน้ำหยดเข้ามาใช้ผลผลิตได้เป็น 6 ตันต่อไร่ นอกจากนี้ยังช่วยย่นระยะเวลาในการให้ผลผลิตสั้นลง และลดต้นทุนการผลิตต่อไร่ได้อย่างดีอีกด้วย

ด้านนางสมควร ชมเชย ผู้จัดการสหกรณ์นิคมนครชุม จำกัด เปิดเผยว่า โครงการปลูกมันสำปะหลังโดยระบบน้ำหยด สหกรณ์ได้เริ่มทำมาร่วม 5 ปีแล้ว ข้อดีคือปลูกประมาณ 10-12 เดือน ผลผลิตมีน้ำหนักดีเกินคาดหมาย เพราะเมื่อเทียบกับที่ปลูกโดยไม่ใช้ระบบน้ำหยด 12 เดือน ยังขุดขายไม่ได้เพราะหัวมันยังเล็กมาก ไม่คุ้มทุนในการขุด ต้องปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลา 2 ปี จึงจะขุดขายได้

หลังจากที่เกษตรกรชุดแรกทดลองทำแล้วได้ผล เกษตรกรหลายรายสนใจก็มาคุยกับสหกรณ์ เพราะการทำระบบน้ำหยดต้องใช้เงินทุน นับตั้งแต่การซื้อท่อ ซื้อสายยาง คณะกรรมการสหกรณ์ฯ จึงมีความเห็นว่า ในเมื่ออาชีพหลักของสมาชิกคือการปลูกมัน ก็ควรให้มีการต่อยอด ทางนิคมสหกรณ์จึงสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยให้เกษตรกรกู้ยืมเพื่อนำไปทำระบบน้ำหยดในวงเงิน 5,000 บาท ต่อไร่ ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน มีเนื้อที่ในการปลูกมันสำปะหลังด้วยระบบน้ำหยดแล้วประมาณ 1,000 ไร่” นางสมควร ชมเชย ผู้จัดการสหกรณ์นิคมนครชุม จำกัด กล่าว

ปัจจุบันสหกรณ์นิคมฯมีสมาชิกกว่า 1,400 คน ที่ยึดอาชีพปลูกมันสำปะหลังจำนวนทั้งสิ้น 60,000 ไร่ แต่ละปีเกษตรกรสมาชิกได้ผลผลิตมันสำปะหลังรวมแล้วไม่น้อยกว่า 100,000-200,000 ตัน ซึ่งส่วนหนึ่งสหกรณ์นิคมรับซื้อที่ประมาณ 40,000 กว่าตัน แล้วแปรรูปเป็นมันเส้นสะอาด พร้อมสร้างเครือข่ายกับสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์ในจังหวัดต่าง ๆ ได้นำไปเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ และส่วนหนึ่งก็ส่งขายให้กับบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจกลุ่มอาหารสัตว์ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตมันสำปะหลัง สามารถจำหน่ายได้ในราคาดี ส่วนมันสำปะหลังที่ไม่ได้แปรรูปเป็นมันเส้น ทางสหกรณ์จะรวบรวมส่งขายให้กับลานมันของเอกชน

“สำหรับนโยบายระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ จะก่อประโยชน์ให้กับเกษตรกรโดยตรง ซึ่งรูปแบบคือการรวมพื้นที่การเกษตรแล้วบริหารจัดการเรื่องต้นทุนการผลิต ปัจจัยการผลิต ใช้หลักการรวมซื้อรวมขาย ก็จะทำให้ช่วยลดต้นทุนแก่เกษตรกร และส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทางสหกรณ์นิคมนครชุม จำกัด พร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้อย่างเต็มที่” ผู้จัดการสหกรณ์นิคมนครชุม จำกัด กล่าว

ข้อมูลจาก
dailynews.co.th/agriculture/329358

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา