เลี้ยง กุ้งก้ามแดง ในนาข้าว สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่มาแรง


ปัจจุบันดูเหมือนว่ากุ้งก้ามแดง หรือกุ้งเครฟิช ที่คุ้นเคยเรียกว่า "กุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืด" ที่นิยมเลี้ยงในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรปและออสเตรเลียนั้น กำลังรับได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาล ส.ป.ป.ลาว ประกาศส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงอย่างเป็นทางการ เพราะเลี้ยงง่าย ตลาดต้องการ ราคาดี ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่มาแรง ล่าสุดสหกรณ์การเกษตรเขื่อนพระปรง จ.สระแก้ว ได้นำมาเลี้ยงในนาข้าวเชิงการ ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ที่ก่อนหน้านี้โครงการหลวงดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งผู้ที่นำกุ้งชนิดนี้มาเลี้ยงเป็นที่แรกประสบผลสำเร็จมาระดับหนึ่ง

อำนาจ ยาสา ประธานสหกรณ์การเกษตรเขื่อนพระปรง จำกัด จ.สระแก้ว บอกว่า ได้มีการศึกษาการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง หรือที่เรียกว่ากุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืด จากการเลี้ยงในนาข้าวของโครงการหลวงมาระดับหนึ่ง จึงมองว่าสมาชิกของสหกรณ์กว่า 50 ราย มีอาชีพทำนาเป็นหลัก ที่ผ่านมาอาชีพทำนาไม่เคยสร้างฐานะที่ดีขึ้น บางปีประสบปัญหาขาดทุน จึงมองเห็นโอกาสที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในนาข้าว จากนั้นได้ศึกษาอย่างจริงจัง ไปดูวิธีการเลี้ยง การเพาะพันธุ์ลูกกุ้งและนำมาทดลองเลี้ยงร่วมกับสมาชิกจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากสมาชิกสหกรณ์จะขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้นแล้ว ยังหาพันธมิตรจากพื้นที่อื่นมาเสริมมาเลี้ยงด้วย เพื่อร่วมสร้างตลาดให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและทำให้การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงกลายเป็นอาชีพที่มั่นคงของเกษตรกรด้วย

"กุ้งชนิดนี้มีจุดเด่นคือ เปลือกหนา ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่างๆ จึงสามารถเลี้ยงได้ในสภาพแวดล้อมทั่วไป แม้แต่ในนาข้าว ในบ่อดิน หรือกระชังในแม่น้ำ  โดยมีอัตราการสูญเสียหรืออัตราการตายน้อยมาก  เจริญเติบโตเร็ว สามารถเลี้ยงได้ทุกพื้นที่ของบ้านเรา สหกรณ์เราเองจะเน้นการเลี้ยงในนาข้าว เพียงมาปรับบ่อใหม่คือพื้นที่ 1 ไร่ จะต้องยกคันล้มให้สูง เพื่อขังน้ำให้สูงกว่าระดับน้ำในนาข้าวทั่วไป และป้องกันศัตรูธรรมชาติ บริเวณรอบขอบบ่อ 1 ใน 3 ส่วน จะขุดให้ลึก 50-70 ซม.เพื่อเป็นที่อาศัยของกุ้งในช่วงกลางวันซึ่งกุ้งจะนอนพักในระดับน้ำที่ลึกลงไป ส่วนพื้นที่ตรงกลางบ่อ 2 ใน 3 ส่วน ระดับน้ำสูง 30 ซม.ซึ่งเป็นระดับน้ำในการทำนาปกติ พื้นที่ส่วนนี้กุ้งจะขึ้นมาอาศัยและหากินในช่วงกลางคืนตามซอกต้นข้าว" อำนาจ กล่าว

สำหรับการปล่อยลูกกุ้งจะนิยมปล่อย 2 ขนาด คือ ขนาด 1 นิ้ว อัตราการปล่อย 5,000 ตัวต่อไร่ กับขนาด 3 นิ้ว อัตราการปล่อย 3,000 ตัวต่อไร่ ส่วนอาหารจะใช้อาหารกุ้งกุลาดำเบอร์ 2, 3, 4 สำหรับลูกกุ้งขนาด 1 นิ้ว ขนาด 3 นิ้วใช้อาหารเบอร์ 3 และ 4 โดยเบอร์ 3 จะเริ่มให้หลังปล่อยเลี้ยง 1 เดือน เบอร์ 4 จะให้หลังปล่อยเลี้ยง 2.5 เดือน อาหารจะให้มื้อเดียวช่วง 6 โมงเย็น กุ้งจะมากินอาหารตอนกลางคืน อัตราการให้อาหารเริ่มต้นที่ 1 ขีดสำหรับกุ้ง 1,000 ตัว และจะเพิ่มอาหารทุก 7 วัน มื้อละ 1-1.2 ขีดไปเรื่อยๆ จนจับขายหลังปล่อยลงเลี้ยง 4-4.5 เดือนจะได้กุ้งขนาดตั้ง 10-20 ตัวต่อกิโลกรัม

"ตอนนี้กุ้งก้ามแดงราคาแพงมาก ที่เราขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 400-600 บาท ขณะที่ต้นทุนยู่ที่กิโลกรัมละ 170-250 บาท ถ้าเป็นของสมาชิกสหกรณ์จะรับซื้อจากปากบ่อ 2 ขนาด คือ ขนาดเล็ก 20-25 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาปากบ่อกิโลกรัม 400 บาท ราคากุ้งไซส์ใหญ่ 7-15 ตัวต่อกิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 500 บาท ที่ผ่านมาสหกรณ์ได้บุกเบิกตลาดและแนะนำกุ้งก้ามแดงเข้าสู่ตลาดจนเป็นที่รู้จักแล้วในระดับหนึ่ง ปัจจุบันมีตลาดรองรับทั้งโรงแรมชื่อดังหลายแห่ง ภัตตาคาร รวมทั้งห้างสรรพสินแม็คโคร แหล่งที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่รู้จักกุ้งชนิดนี้เป็นอย่างดี อาทิ พัทยา  ภูเก็ต หัวหิน กระบี่ เชียงใหม่" อำนาจ กล่าว

ข้อมูลจาก komchadluek.net

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา