ยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ กำหนดตามอัตราค่าครองชีพ

กระทรวงแรงงานโละค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศเริ่มปี 2559 ให้แต่ละแห่งกำหนดตามความเหมาะสมของอัตราค่าครองชีพ กรรมการบอร์ดค่าจ้างพิจารณาแต่ละจังหวัดนำเข้าประชุมใหญ่ตุลาคมนี้
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2558 นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการสัมมนากรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2559 และกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน ว่า คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ยังคงมีมติกำหนดให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วทั้งประเทศไปจนถึงสิ้นปี 2558

ส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559 ยังไม่มีการพิจารณาว่าจะปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่มติบอร์ดค่าจ้างเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 ให้ปรับวิธีกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้แบบเดิมคือ การกำหนดตามพื้นที่จังหวัด โดยจะต้องมีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง และต้องคำนึงถึงค่าครองชีพแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ

ขณะนี้กระทรวงฯ กำลังดำเนินการโครงการศึกษาวิจัยความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการใช้ระบบค่าจ้างแบบลอยตัวทั่วประเทศ โดยการศึกษาเปรียบเทียบค่าจ้างลอยตัว และวิเคราะห์แนวทางการกำหนดค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นไปได้ในการปรับใช้กับประเทศไทย

นายนครกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มการจ้างงาน สร้างความเป็นอยู่ที่ดี และลดความแตกต่างด้านรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ยังมีผลต่อสภาพการจ้างงานในตลาดแรงงานด้วย ดังนั้น การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกภาคส่วน ต้องร่วมกันปรับยุทธศาสตร์ของงหน่วยงานให้เข้ากับสถานการณ์และให้ความสำคัญกับผลิตภาพแรงงานมากขึ้น

อีกทั้งในอนาคตนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจะมองหาแรงงานที่มีคุณภาพรองรับโครงสร้างการผลิตที่มีคุณภาพสูงขึ้น

ส่วนฝ่ายลูกจ้าง จะต้องมองถึงการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อเป็นการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ที่เป็นตัวกำหนดค่าจ้างและรายได้ตามความสามารถที่แตกต่างกัน การที่แรงงานมีผลิตภาพสูงย่อมมีโอกาสจะได้ค่าจ้างและรายได้สูงกว่าแรงงานที่มีผลิตภาพต่ำกว่า

สำหรับโครงสร้างอัตราค่าจ้างปี 2559 นั้น ได้ให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดไปศึกษาและส่งค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัดมา ซึ่งจะนำเข้ามาพิจารณาในการประชุมบอร์ดค่าจ้างครั้งใหญ่ในเดือนตุลาคมนี้

ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวว่าการสัมมนาครั้งนี้เพื่อให้ทุกจังหวัดได้รับทราบถึงแนวทางและข้อเสนอแนะถึงค่าจ้างทุกจังหวัดควรเป็นเช่นไร การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีความสำคัญอย่างมาก หากกำหนดสูงเกินไปก็จะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจต่อการลงทุนและอาจทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อได้ แต่หากกำหนดอัตราค่าจ้างต่ำเกินไปก็จะไม่มีหลักประกันค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงาน

สำหรับในปี 2559 จะวางแนวทางการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นมาตรฐานและสามารถที่จะใช้ในปีต่อไปได้ อีกทั้งการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่เป็นปรับขึ้นในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องสอดคล้องกับค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่และเป็นธรรม

ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ  300 บาทที่ใช้ในปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีในสมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง  เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ(ฉบับที่ 7)  เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป  ทั้ง 77 จังหวัด โดยค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดไว้วันละ 300 บาท ประกอบด้วย


กรุงเทพมหานคร  จังหวัดกระบี่  กาญจนบุรี  กาฬสินธุ์  กำแพงเพชร  ขอนแก่น  จันทบุรี  ฉะเชิงเทรา  ชลบุรี  ชัยนาท  ชัยภูมิ  ชุมพร  เชียงราย  เชียงใหม่  ตรัง  ตราด  ตาก  นครนายก  นครปฐม  นครพนม  นครราชสีมา  นครศรีธรรมราช  นครสวรรค์  นนทบุรี  นราธิวาส  น่าน  บึงกาฬ  บุรีรัมย์  ปทุมธานี  ประจวบคีรีขันธ์  ปราจีนบุรี  ปัตตานี  พระนครศรีอยุธยา  พังงา  พัทลุง  พิจิตร  พิษณุโลก  เพชรบุรี  เพชรบูรณ์  แพร่  พะเยา  ภูเก็ต  มหาสารคาม  มุกดาหาร  แม่ฮ่องสอน  ยะลา  ยโสธร  ร้อยเอ็ด  ระนอง  ระยอง  ราชบุรี  ลพบุรี  ลำปาง  ลำพูน  เลย  ศรีสะเกษ  สกลนคร  สงขลา  สตูล  สมุทรปราการ  สมุทรสงคราม  สมุทรสาคร  สระแก้ว  สระบุรี  สิงห์บุรี  สุโขทัย  สุพรรณบุรี  สุราษฎร์ธานี  สุรินทร์  หนองคาย  หนองบัวลำภู  อ่างทอง อุดรธานี  อุทัยธานี  อุตรดิตถ์  อุบลราชธานี  และอำนาจเจริญ

ข้อมูลจาก
thaitribune.org

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา