ตลาดข้าวโพด - สหกรณ์แม่สอด และสหกรณ์แปดริ้ว เชื่อมโยง ตลาดซื้อขายข้าวโพด


ตามนโยบายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเน้นให้สหกรณ์เป็นผู้ซื้อรายใหญ่และสามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ พร้อมทั้งให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์กับสหกรณ์เพื่อสร้างเครือข่ายด้านการผลิตและการตลาดสินค้าคุณภาพ ราคายุติธรรมโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางและเสริมสร้างระบบสหกรณ์ให้เข้มแข็ง กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้ส่งเสริมให้ดำเนินการนโยบายรัฐบาลในลักษณะของการบริหารจัดการพืชแปลงใหญ่ โดยนำร่องดำเนินการในพื้นที่ของนิคมสหกรณ์แม่สอด เนื่องจากมีระบบการทำงานของสหกรณ์ที่เข้มแข็งอีกทั้งสมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่ปลูกพืชชนิดเดียวกันคือข้าวโพด

นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในเขตพื้นที่นิคมสหกรณ์แม่สอดเป็นพื้นที่ที่ปลูกข้าวโพดที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดตาก จึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้สมาชิกนิคมสหกรณ์แม่สอดสามารถลดต้นทุนการผลิต ปรับกระบวนการผลิตให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่งเสริมการตลาดด้วยวิธีการสหกรณ์ และสนับสนุนให้เกษตรกรเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ดีได้อย่างไร กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้ดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเอาความรู้ทั้งภาควิชาการและปฏิบัติตามที่เกษตรกรร้องขอเข้ามา เพื่อนำไปปรับกระบวนการผลิตข้าวโพดในรูปแบบการดำเนินโครงการบริหารจัดการพืชแปลงใหญ่ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการวิเคราะห์ดิน การจัดการแปลงปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว และระบบการตลาดด้วยวิธีการสหกรณ์

การปรับโครงสร้างบริหารจัดการแปลงใหญ่ในพื้นที่อำเภอแม่สอด เบื้องต้นมีพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 8,000 ไร่ มีสมาชิกสหกรณ์ 400 ราย ซึ่งจะมีการส่งเสริมในเรื่องขององค์ความรู้ เงินทุนหมุนเวียนที่ผ่านระบบสหกรณ์ ปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ดีที่สหกรณ์เลือกใช้ การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องในระยะเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังได้บริหารในเรื่องของการตลาดล่วงหน้า โดยอาศัยการเชื่อมโยงเครือข่ายของสหกรณ์ ระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตกับสหกรณ์ผู้ใช้ เพื่อหาตลาดล่วงหน้าเพื่อรองรับผลผลิตของผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อปลูกพืชแล้วจะมีตลาดรับรองผลผลิตอย่างแน่นอน

นายโอภาส กล่าวเสริมว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จาก 669 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 900 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 1,800 ตัน คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดถึง 25,000 ตันในปีนี้ และโครงการปรับโครงสร้างการผลิตแปลงใหญ่ ก็จะทำให้เกิดมูลค่าเรื่องของการซื้อขายระหว่างสหกรณ์กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น สมาชิกจะมีรายได้ที่มั่นคง มีอาชีพที่ยั่งยืน และสหกรณ์จะเข้มแข็ง อีกทั้งจะใช้พื้นที่ของนิคมสหกรณ์แม่สอดเป็นต้นแบบเพื่อให้สหกรณ์ในพื้นที่ใกล้เคียงหรือสหกรณ์ที่สนใจเข้ามาศึกษาต่อไป

นายสันติ วิโรจน์บริสุทธิ์ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว กล่าวว่า สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้วมีการจัดตั้งโรงงานอาหารสัตว์เพื่อผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อช่วยเหลือและลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรรายย่อย โดยมีข้าวโพด เป็นวัตถุดิบที่สำคัญ ทำให้ทางสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่จำเป็นจะต้องหาแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้ พร้อมทั้งได้ตกลงการทำ
MOU ระหว่างนิคมสหกรณ์แม่สอดและสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างสหกรณ์โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งนี้ก็เป็นเป้าหมายของทางรัฐบาลที่ส่งเสริม อีกทั้งการเชื่อมโยงนี้จะสามารถช่วยให้สมาชิกของสหกรณ์ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรทั้ง 2 ฝ่ายได้อย่างยั่งยืน

เบื้องต้นการทำ MOU ระหว่างนิคมสหกรณ์แม่สอดและสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้วในการซื้อขายข้าวโพดนั้นมีปริมาณ 500 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 9 บาท 40 สตางค์ ซึ่งเป็นราคาที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงร่วมกันโดยคัดจากคุณภาพการผลิตตั้งแต่กระบวนการเตรียมดินไปจนถึงการเก็บเกี่ยว อีกทั้งได้เห็นกระบวนการผลิตทั้งหมดจึงมั่นใจว่าข้าวโพดที่ได้มานั้นมีคุณภาพตามที่ต้องการ

ข้อมูลทั้งหมดจาก naewna.com/local/166133

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา