ม.มหาสารคามทำสำเร็จ ค้นสูตร ชาสมุนไพร รักษา โรคสะเก็ดเงิน


นักวิจัยคณะเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประสบความสำเร็จคิดค้นสูตรชาสมุนไพรบรรเทาอาการโรคสะเก็ดเงิน ด้านผู้ปกครองของผู้ป่วยพอใจหลังดื่มชา เผย 2 เดือน ผิวหนังดีขึ้นมาก

รศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อม รศ.ดร.อนุชิตา มุ่งงาม คณบดีคณะเทคโนโลยี  แถลงที่ห้องประชุมของมหาวิทยาลัยฯ ถึงความสำเร็จในการวิจัยของอาจารย์สิริพร ลาวัลย์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยี หน่วยวิจัยโภชนาการเพื่อสุขภาพ ค้นพบสูตรชาสมุนไพรสำหรับควบคุมและบรรเทาอาการของโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งได้รับรองความปลอดภัยและขึ้นทะเบียนจากคณะกรรมการอาหารและยาเรียบร้อยแล้ว

การใช้ชาสมุนไพรเป็นวิธีการที่เหมาะกับผู้ป่วย เพราะสามารถรับประทานได้นาน ต่อเนื่อง มีความเป็นพิษต่ำ โดยสมุนไพรที่นำมาใช้ในครั้งนี้เป็นสมุนไพรจีนผสมกับสมุนไพรไทย มีองค์ประกอบของ oleanolic acid ที่ช่วยบำรุงผิวหนังและต้านการอักเสบ ร่วมกับสมุนไพรไทยที่ช่วยเรื่องการต้านอนุมูลอิสระ ถูกนำมาพัฒนาเป็นสูตรชาเฉพาะที่มีความปลอดภัยสูง และส่งผลถึงภาวะของโรคสะเก็ดเงิน ทำให้ลดอาการคัน การอักเสบ และการหลุดลอกของผิวหนังได้อย่างชัดเจน

อาจารย์สิริพร อธิบายว่า โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด เกิดจากการหนาตัวของชั้นหนังกำพร้า มีลักษณะเป็นตุ่มหรือปื้นแดง ที่มีขุยหรือสะเก็ดขาวติดอยู่ โรคนี้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม ความผิดปกติในกระบวนการเผาผลาญอาหาร และความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนัง ทำให้ผู้ป่วยจะได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพราะรู้สึกอับอายเกิดความเครียด อาจไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ การรักษามีหลายวิธี ทั้งรักษาด้วยยา การทา การรับประทาน การใช้ยาฉีด และด้วยแสง ซึ่งแนวทางการรักษาเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะสามารถรักษาอาการของโรคได้ในระยะเวลายาวนาน และการรักษาต้องทำอย่างต่อเนื่อง เสียค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถรักษาได้ต่อเนื่อง การเลือกใช้ชาสมุนไพรนับเป็นวิธีการที่เหมาะกับผู้ป่วย สำหรับผู้สนใจชาสมุนไพรบรรเทาอาการโรคสะเก็ดเงินสามารถติดต่อได้ที่คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทร.08-3563-5595 หรือ 09-4263-4568

ด้านผู้ปกครองของ “น้องออย” ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินชาวจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า  น้องออยป่วยมีอาการของโรคสะเก็ดเงินกว่า 3 ปี ไปรักษาทุกที่แล้วแพทย์ยืนยันว่าเป็นโรครักษาไม่หาย หลังดื่มยาสมุนไพรดังกล่าวประมาณ 2 เดือน อาการผิวหนังลอก อักเสบ และคันหายไป ปัจจุบันผิวหนังเป็นปกติ เด็กและน้องออยสามารถไปโรงเรียนได้แล้ว.-สำนักข่าวไทย

ข้อมูลจาก tnamcot.com

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา