สกย. หารือ เจโทร เรื่องเศษไม้ยางพาราอัดก้อน ป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อส่งขายไปยังประเทศญี่ปุ่น

สกย.ถก“เจโทร”ส่งออกเศษไม้ยางอัดก้อน ป้อนโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลญี่ปุ่น


นายเชาว์  ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เปิดเผยว่า สกย. ได้ร่วมหารือกับผู้แทนกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจากกระทรวงพาณิชย์ และ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น  (เจโทร) เพื่อหารือเรื่องการรับรองการนำเศษไม้ยางพารา ขี้เลื่อยจากไม้ยางพาราเข้าสู่กระบวนการอัดก้อน ทำเป็นถ่าน เพื่อนำส่งขายประเทศญี่ปุ่น ในการสร้างพลังงานชีวมวล ซึ่งจากการหารือ รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานทางเลือกที่นอกเหนือจากพลังงานนิวเคลียร์ และมีการนำเข้าไม้อัดจากประเทศแคนาดาเป็นหลัก และในประเทศไทยเอง มีภาคเอกชนหลายแห่งที่กำลังดำเนินธุรกิจโรงงานชีวมวล แต่ทั้งนี้ การส่งวัตถุที่เป็นถ่านอย่างไม้ยางพาราไปขายที่ประเทศญี่ปุ่น ยังคงติดประเด็นปัญหาเรื่องการรับรองไม้ยางที่นำไปทำเป็นผงถ่าน ต้องเป็นไม้ยางที่ถูกต้อง ไม่ได้เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า ดังนั้น สกย. ในฐานะองค์กรที่ให้การดูแลและส่งเสริมการปลูกยางพารากับเกษตรกรโดยตรง จึงมีความยินดีที่จะให้การสนับสนุนการรับรองแหล่งที่มาของไม้ยางพาราที่มาจากการปลูก

“ผมคิดว่า เป็นแนวทางหนึ่งหรือทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงผู้ประกอบการภายในประเทศที่คิดจะทำเรื่องของธุรกิจไม้ยางพาราไม่ว่าจะเป็นกิ่ง เศษไม้เล็กๆ รากไม้ยาง เอามาบดเพื่อนำไปทำถ่านอัดก้อนส่งไปขายให้ธุรกิจพลังงานชีวมวลในต่างประเทศ” นายเชาว์ กล่าว

นางอุมาพร ฟูตระกูล ผู้แทนกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นหนึ่งในหลายโครงการจากความร่วมมือการเจรจาทางธุรกิจร่วมกัน ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ เจโทร ซึ่งการส่งเสริมสินค้า “วู้ดพาเลท” ไปยังประเทศญี่ปุ่น เป็นโครงการที่มีความเป็นมาจากกรณีเหตุการณ์โรงงานผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นระเบิด ทำให้โรงงานก็มีจำนวนลดลง ส่งผลต่อการผลิตกำลังไฟฟ้าภายในประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงหันมาส่งเสริมโรงงานผลิตไฟฟ้าแบบชีวมวลมากขึ้น ปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นได้มีการนำเข้าไม้จากประเทศแคนาดาโดยส่วนใหญ่ และผลิตใช้เองในประเทศ แต่จะเป็นรูปแบบของ “วู้ดชิพ ” ซึ่งเป็นเศษไม้จริงๆ ที่ได้จากการปลูกเพื่อตัดมาทำเป็นพลังงานโดยเฉพาะ ประกอบกับแนวโน้มของโลกที่ต้องการจะลดมลภาวะ จึงทำให้มีการส่งเสริมการตั้งโรงงานไฟฟ้าและผลิตโดยชีวมวล ซึ่งประเทศไทยมองเห็นว่า ขณะนี้ยางพารามีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ และที่ผ่านมาไม้ยางพาราที่มีการโค่นแล้วในส่วนที่เหลือก็ต้องมีการเผา ทำให้เกิดมลภาวะในอากาศ หากเอาเศษไม้ยางพารามาใช้ประโยชน์ โดยการนำมาอัดแท่งเป็นขี้เลื่อย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา และสร้างรายได้ทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการต่อไป

จาก naewna.com

http://www.farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=02204

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา