หนุนสหกรณ์ส่งออกไข่ไก่ รายใหญ่ขันอาสาเป็นพี่เลี้ยง


    บิ๊กวงการไก่ไข่เมินงบ คชก. กว่า 20 ล้านบาท แต่ขอรับบทเป็นพี่เลี้ยงหนุนสหกรณ์ ส่งออกแทน อดีตนายกฯผู้เลี้ยงไก่ไข่ระบุ อากาศร้อน-รายย่อยเจ๊งดันราคาไข่ไก่พุ่ง  พร้อมเสนอแผนการนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ ปี 59 ดัดหลังเอกชน 17 ราย ให้กรมปศุสัตว์อนุมัตินำเข้าเดือนเว้นเดือน  พร้อมจำกัดปีละไม่เกิน 5 แสนตัว อีกด้านหนึ่งเกษตรกรยังไม่เชื่อใจผู้ส่งออก

    นายมาโนช ชูทับทิม นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ภายหลังจากการประชุมกับสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ (วันที่ 21 เม.ย.58) เพื่อหารือถึงสถานการณ์ไข่ไก่ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ตลอดจนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ร่วมกัน ซึ่งในที่ประชุม ปรากฏว่าบริษัทผู้เลี้ยงไก่ไข่ครบวงจรไม่ว่าจะเป็นซีพี และ เบทาโกร และรายอื่นๆ แจ้งว่าจะไม่รับเงินสนับสนุนในการส่งออกจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) พร้อมกับเสนอตัวรับเป็นที่ปรึกษาในการหาตลาดส่งออกให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อยแทน จึงให้สหกรณ์ไปรวมตัวกัน เพื่อแจ้งความจำนงลงทะเบียนรายชื่อกับกรมปศุสัตว์เพื่อส่งออก

    "ทางสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ประกาศรับซื้อ ไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ณ วันที่ 24 เมษายน 2558 อยู่ที่ฟองละ 2.50 บาท โดยมีราคาขยับขึ้นมา 50 สตางค์ (ราคาไข่ไก่เดือนมีนาคมต่ำที่สุด เฉลี่ยฟองละ 2 บาท) สืบเนื่องมาจากอากาศร้อน ผนวกกับรายย่อยเลิกกิจการเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ปริมาณไข่ลดลง อย่างไรก็ดีประเมินไข่ไก่ที่อยู่ในตลาดปริมาณ 39 ล้านฟองต่อวัน นับว่ายังมากอยู่ หากจะให้เกิดความสมดุล น่าจะอยู่ที่ 37-38 ล้านฟองต่อวัน " นายมาโนช กล่าวและว่า

    อยากให้กรมปศุสัตว์วางแผนปริมาณไก่ไข่พ่อ-แม่พันธุ์ ในแต่ละปีไม่เกิน 5 แสนตัว ยกตัวอย่างการกำหนดแผนการนำเข้าในปี 2559 ให้ทุกบริษัทส่งแผนนำเข้าให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม ใครไม่ทันถือว่าสละสิทธิ์ หลังจากนั้นจึงมาพิจารณาว่าแต่ละบริษัทขอแผนนำเข้าจำนวนเท่าไร อนุญาตหมด แต่ปริมาณมาก ก็ใช้วิธีอนุญาตเดือนเว้นเดือน หรือถ้าพ้น 5 แสนตัว สั่งเบรกทันที จะทำให้รักษาเสถียรราคาไข่ไก่ได้

    ทั้งนี้เงินที่ คชก.อนุมัติได้แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ 1.การชดเชยการลดกำลังการผลิตไข่ไก่ โดยจ่ายเป็นค่าชดเชยการปลดระวางแม่ไก่ยืนกรงอายุไม่เกิน 65 สัปดาห์ ออกจากระบบเพิ่มเติมจากปกติ ให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป้าหมายการปลดระวางจำนวน 2.5 แสนตัว ระยะเวลาดำเนินการเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ระยะเวลาโครงการ 1 เดือน

    ส่วนกิจกรรมที่ 2 การรวบรวมไข่ออกจากระบบ โดยจ่ายเป็นค่าบริหารจัดการรวบรวมไข่ไก่ส่วนเกินออกจากระบบเพิ่มเติมของผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อระบายจำหน่ายสู่โรงงานแปรรูป หรือเก็บสต๊อกเข้าห้องเย็นเพื่อจำหน่ายออกนอกตลาดปกติ เป้าหมาย 24 ล้านฟอง  ระยะเวลา 4 สัปดาห์ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2.80 ล้านฟอง  รวม 2 โครงการใช้งบประมาณกว่า 20 ล้านบาท ผลจากการดำเนินทั้ง 2 โครงการคาดว่าปริมาณไข่ไก่ลดลง 1.60 ล้านฟอง/วัน

    "ความร่วมมือกันในครั้งนี้เป็นความสมัครใจ ไม่ได้บังคับ อีกอย่างรายใหญ่ส่งออกดำเนินการปกติอยู่แล้ว" นายมาโนช กล่าวทิ้งท้าย

    ด้านแหล่งข่าวเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่ายังไม่เชื่อใจว่าผู้ส่งออกจะทำได้จริงหรือไม่  ท้ายสุดก็ได้เปรียบอยู่ดีทั้งในแง่ศักยภาพการส่งออก ยอมรับว่ากลัวถูกหลอก และถ้าสหกรณ์ทำไม่ได้ ทางกลุ่มนี้ก็ใช้เป็นข้ออ้างเข้ามาในระบบเพื่อดันส่งออกอยู่ดี แต่คงยังไม่กล้าเข้ามาเต็มตัว เพราะสังคมจับตามองอยู่ สำหรับพื้นที่ดำเนินการ จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตไข่ไก่ที่สำคัญ อาทิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี นครนายก ขอนแก่น เชียงใหม่ และเชียงราย เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

http://www.farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=02192

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา