เผยผลวิจัย เพิ่มผลผลิตสับปะรด กรมหมอดินแนะนำใช้ปุ๋ยพืชสด ร่วมกับปุ๋ยเคมี


นายชัชชัย ถิ่นโพธิ์ทอง กลุ่มวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า สับปะรดเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีแหล่งเพาะปลูกสับปะรดที่สำคัญ ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง เพชรบุรี ราชบุรี ชลบุรี กาญจนบุรี และชุมพร แต่ในปัจจุบันพื้นที่ปลูกสับปะรดได้เพิ่มขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้นในหลายจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดราชบุรีมีพื้นที่ปลูกสับปะรดเพิ่มขึ้นและเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดอีกด้วย สำหรับตลาดส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย เม็กซิโก รัสเซีย ไต้หวัน

อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงขึ้น จำเป็นต้องปรับปรุงระบบการผลิตให้สับปะรดมีผลผลิตเพิ่มขึ้น คุณภาพสูงขึ้น และต้นทุนการผลิตต่ำลง ซึ่งการจัดการดินเป็นปัจจัยที่สำคัญโดยควรเน้นในด้านการใช้อินทรียวัตถุและปุ๋ยอินทรีย์ในการปรับปรุงบำรุงดิน รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของสับปะรด และการตกค้างของสารไนเตรทในผลสับปะรดเนื่องมาจากการตกค้างของการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่สูง

ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาวิจัยผลการเพิ่มมวลชีวภาพและธาตุอาหารในพืชปุ๋ยสดปอเทือง โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพ (พด.11) ร่วมกับพืชคลุมดินเพื่อเพิ่มผลผลิตสับปะรดในกลุ่มชุดดินที่ 40 จังหวัดราชบุรี เพื่อศึกษาการเพิ่มผลผลิตสับปะรด และศึกษาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและส่งเสริมเผยแพร่แก่เกษตรกร ซึ่งผลการทดลองต่อเนื่อง 3 ปี พบว่า วิธีการปลูกสับปะรดร่วมกับการปลูกปอเทือง โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพ (พด.11) และปุ๋ยเคมี อัตราครึ่งหนึ่งของอัตราค่าวิเคราะห์ของดิน ให้น้ำหนักผลผลิตสูงสุด 4.320 ตันต่อไร่ โดยให้ผลตอบแทนรายได้สูงสุด 4,280 บาทต่อไร่ เนื่องจากปอเทือง มีมวลชีวภาพให้น้ำหนักสดเฉลี่ย 2,980 กก.ต่อไร่ น้ำหนักแห้งเฉลี่ย 994.33 กก.ต่อไร่ ให้ปริมาณธาตุอาหาร ไนโตรเจน 3.47% ฟอสฟอรัส 0.35% และโพแทสเซียม 2.22% อย่างไรก็ตาม ผลการวิเคราะห์ดินหลังการทดลองพบว่าปริมาณอินทรียวัตถุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะปุ๋ยพืชสด พืชคลุมดินร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน

จาก naewna.com

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา