อ้อยเข้าหีบสูงเป็นประวัติการณ์ ทุบสถิติ104ล.ตัน


    3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เผยหีบอ้อยฤดู 2557/2558 ปริมาณอ้อยพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทำลายสถิติที่ 104 ล้านตันอ้อย แต่ทำรายได้ให้กับโรงงานน้ำตาลไม่เข้าเป้า เหตุราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกวูบ หวั่นหลังปิดหีบอ้อยแล้ว อาจต้องใช้กองทุนฯเข้ามาชดเชยส่วนต่างราคาเบื้องต้นที่จ่ายไปแล้ว พร้อมรอลุ้นการกำหนดเกณฑ์ตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่จากครม.

    altนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ทาง 3 สมาคมอยู่ระหว่างติดตามการนำอ้อยเข้าหีบในฤดู 2557-2558 ว่าจะมีปริมาณเท่าใด หลังจากที่เมื่อช่วงต้นปีประเมินว่าจะมีอ้อยเข้าหีบต่ำกว่าปีฤดู 2556/2557 ที่หีบได้ 103.67 ล้านตันอ้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่จากการประเมินเบื้องต้นกลับพบว่า ปริมาณอ้อยที่เข้าหีบตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 6 เมษายน 2558 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 103.14 ล้านตันอ้อย จากจำนวนโรงงานน้ำตาล 51 แห่ง ทั่วประเทศ

    ในขณะที่ยังมีโรงงานน้ำตาลในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกจำนวน 20 แห่ง แม้จะปิดหีบอ้อยไปแล้ว 2-3 แห่ง แต่ยังมีโรงงานที่เหลือยังเปิดหีบอ้อยอยู่ประมาณ 2 แสนตันต่อวันอ้อย และคาดว่าจะเปิดหีบไปเลยจากหลังสงกรานต์ไปแล้ว จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าการหีบอ้อยในฤดูดังกล่าวนี้จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงกว่า 104 ล้านตันอ้อย สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ประมาณ 11-12 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นการสร้างประวัติการณ์การหีบอ้อยสูงสุด นับตั้งแต่ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายขึ้นมา

    อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการหีบอ้อยทุบสถิติสูงสุดก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่า ราคาน้ำตาลทรายที่เป็นอยู่ขณะนี้ถือว่าตกต่ำเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หากเฉลี่ยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้จะอยู่ประมาณ 12-13 เซนต์ต่อปอนด์เท่านั้น เนื่องจากสต๊อกน้ำมันในตลาดโลกยังมีอยู่ในปริมาณมากถึง 10-20 ล้านตัน ประกอบกับผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิล มีต้นทุนในการผลิตน้ำตาลทรายต่ำลง ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของโรงงานน้ำตาลไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ

    โดยเฉพาะกรณีที่โรงงานน้ำตาลได้จ่ายค่าอ้อยเบื้องต้นไปแล้ว 900 บาทต่อตัน ที่ชาวไร่อ้อยได้รับไปแล้ว แต่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายจะต้องมาติดตามดูว่าราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกหลังปิดหีบแล้ว ที่จะมีการพิจารณาภาพรวมประมาณเดือนกันยายน 2558 หากราคาน้ำตาลทรายยังทรงตัวหรือไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก ก็อาจจะส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยเบื้องต้นที่จ่ายไปแล้วได้ ซึ่งจะเป็นภาระให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จะต้องหาเงินมาจ่ายชดเชยคืนส่วนต่างให้กับโรงงานน้ำตาล เหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ซึ่งคงต้องรอติดตามอย่างใกล้ชิด

    นายสิริวุทธิ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามผู้ที่อยู่ในวงการอ้อยและน้ำตาลทราย หวังว่าสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกน่าจะปรับตัวดีขึ้นมาได้ เนื่องจากทางบราซิลพยายามที่จะไม่ระบายน้ำตาลทรายออกสู่ตลาดโลก โดยหันไปผลิตเอทานอลจากน้ำตาลแทนมากขึ้น เพราะได้ราคาดีกว่า อีกทั้งเป็นการสนับสนุนนโยบายการใช้เอทานอลภายในประเทศที่ขณะนี้มีการส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ อี 27 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศแล้ว

    ส่วนกรณีที่นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมที่จะนำหลักเกณฑ์การกำหนดระยะห่างการตั้งโรงงานน้ำตาล เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนเมษายนนี้ โดยจะเสนอแนวทางของการตั้งโรงงานน้ำตาลที่จะสร้างใหม่ ต้องห่างจากโรงงานน้ำตาลเดิมตั้งแต่ 40-60 กิโลเมตร จากเดิมที่กฎหมายกำหนดต้องมีระยะห่าง 80 กิโลเมตรขึ้นไปนั้น ในส่วนนี้ทางโรงงานน้ำตาลที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ก็กำลังติดตามอยู่ว่าจะมีความชัดเจนออกมาเมื่อใด เนื่องจากขณะนี้มีผู้ประกอบการได้เสนอเรื่องของตั้งโรงงานน้ำตาลไปแล้วประมาณ 50 แห่ง กำลังรอการอนุมติอยู่

    โดยมองว่าการกำหนดระยะห่างของการตั้งโรงงานน้ำตาลไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเป็นเรื่องของปริมาณอ้อยที่จะเข้าโรงงานมีมากน้อยเพียงใด และเป็นไปตามเป้าหมายของแผนพัฒนาอ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี หรือไม่ที่จะส่งเสริมให้เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อย และมีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 180 ล้านตันอ้อยได้ ถ้าอนุมัติตั้งโรงงานออกมาแล้วไม่มีอ้อยเข้าหีบก็จะไม่คุ้มทุนในการลงทุน ที่สำคัญโรงงานน้ำตาลจะต้องไปส่งเสริมการปลูกอ้อยของตัวเอง ไม่ใช่ตั้งโรงงานแล้วไปแย่งอ้อยจากพื้นที่ของผู้ประกอบการรายอื่นก็จะเกิดปัญหาตามมาได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

http://www.farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=02167

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา