ชัยนาทโมเดล : รับมือภัยแล้ง


ภายหลังกรมชลประทานออกอากาศเรื่อง ขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตระหนกและข้อกังวลให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความห่วงใยในเรื่องปัญหาภัยแล้วและปริมาณน้ำน้อยจึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรทราบถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนโดยชูแนวทาง "ชัยนาทโมเดล" เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาปริมาณน้ำต้นทุนน้อยและฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี 2558 ในเขตดูแลรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท นายชวลิต เผยว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี 2558 ในเขตดูแลรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท พบว่า ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2558 มีปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลที่ใช้การได้จริงเหลือ 400 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 3% ของความจุอ่าง ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์เหลือน้ำที่ใช้การได้จริง 764 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 8% ของความจุอ่าง รวม 2 เขื่อนใหญ่มีน้ำใช้การได้จริง 1,164 ล้าน ลบ.ม. หากฝนยังไม่ตกเลยสามารถส่งน้ำได้อีก 36 วัน ส่วนเขื่อนกระเสียวมีน้ำที่ใช้การได้จริง 49 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 20% ของความจุอ่าง และเขื่อนทับเสลา ประมาณ 32 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 20% ของความจุอ่าง

สำนักงานชบประทานที่ 12 มีพื้นที่รับผิดชอบ 2.79 ล้านไร่ ใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา และนครสวรรค์ ซึ่งได้วางแผนการเพาะปลูกไว้ จำนวน 2,099,174 ไร่ มีประมาณน้ำที่ต้องการใช้ 2,413 ล้าน ลบ.ม.แต่เนื่องจากประมาณน้ำต้นทุนมีค่อนข้างจำกัด จึงได้ปรับลดแผนการเพาะปลูกลงเป็น 1,211,465 ไร่ ปริมาณน้ำที่ต้องการใช้ 1,150 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันได้มีการเพาะปลูกไปแล้ว 1,217,872 ไร่

ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 12 ได้จัดทำรายงานพื้นที่เพาะปลูกรายสัปดาห์ สามารถระบุได้ว่าเกษตรกรรายใดที่ปลูกไปแล้ว และเกษตรกรรายใดที่ยังไม่ได้ปลูก ทั้งยังจัดทำแผนที่แปลงนา มีชื่อเกษตรกรหมายเลขแปลง จำนวนไร่ และเปรียบเทียบข้อมูลรายงานการเพาะปลูกกับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลในการประชาสัมพันธ์เพื่อชะลอการเพาะปลูกได้ พร้อมใช้กำกับดูแลและบริหารจัดสรรน้ำที่มีจำกัดกระจายไปสู่พื้นที่ที่เพาะปลูกแล้วให้ได้มากที่สุดด้วย

อย่างไรก็ตาม จากความร่วมมือในการบริหารจัดสรรน้ำและแก้ไขปัญหาปริมาณน้ำต้นทุนน้อยและฝนทิ้งช่วงอย่างจริงจังของผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทและหน่วยที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ สำนักงานชลประทานที่ 2 สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ทำให้ได้แนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างรูปธรรมและรวดเร็วขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ จึงได้มีแผนผลักดัน "ชัยนาทโมเดล" เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำและแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7.45 ล้านไร่

จังหวัดชัยนาทมีพื้นที่ปลูกข้าว 831,487 ไร่ โดยเกษตรกรมีการเพาะปลูกไปแล้ว 357,811 ไร่ คิดเป็น 43.03% มีทั้งพื้นที่ในและนอกเขตชลประทานและพื้นที่ที่ยังไม่ได้ปลูก 473,676 ไร่ คิดเป็น 56.97% จากปัญหาปริมาณน้ำต้นทุนน้อยและฝนทิ้งช่วง เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดชัยนาทได้เร่งสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรในพื้นที่ให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำ และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมแจ้งเตือนให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ยังไม่ได้เพาะปลูกให้ชะลอการเพาะปลูกไว้ก่อน จนกว่าปริมาณน้ำฝนจะตกหรือมีน้ำต้นทุนเพียงพอ

นอกจากนั้น ยังมีการประชาสัมพันธ์การประกันภัยข้าวหน้าปีของ ธ.ก.ส. โดยเขตจังหวัดชัยนาทเกษตรกรต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยไร่ละ 90 บาท แต่ถ้าเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. จ่ายเพียง 80 บาท/ไร่ ซึ่ง ธ.ก.ส.จะจ่ายเพิ่มให้ไร่ละ 10 บาท ไม่จำกัดจำนวนไร่ เมื่อเกิดความเสียหายจะได้รับค่าชดเชยไร่ละ 1,111 บาท ซึ่งมีการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่วันนี้ ถึง 14 สิงหาคม 2558

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรในระยะสั้น กรณีเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวไปแล้วสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาทจะขึ้นทะเบียนเกษตรกรทุกราย ซึ่งในเขตชลประทานจะมีการส่งน้ำช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้เพื่อไม่ให้ข้าวเสียหาย นอกจากเขตชลประทานจะสนับสนุนให้ใช้บ่อน้ำตื้น/แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือการจัดการน้ำแบบแห้งสลับเปียกพร้อมแนะนำให้ทำประกันภัยข้าวในพื้นที่เสี่ยง หากมี การประกาศภัยพิบัติจะได้รับการชดเชยความเสียหายไร่ละ 1,111 บาท และไดรับความช่วยเหลือตามระเบียบเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ จำนวน 1,113 บาท/ไร่ รวมเป็น 2,224 บาท/ไร่

ส่วนกรณีเกษตรกรที่ยังไม่ได้เพาะปลูก ในเขตชลประทานได้ขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกออกไปตามประกาศกรมชลประทาน และต้องขึ้นทะเบียนเพื่อให้ทราบจำนวนทุกราย และภาครัฐจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกร พื้นที่นอกเขตชลประทานแนะนำและส่งเสริมให้ปลูกพืชตระกูลถั่ว พืชไร่ หรือพืชเกศรษฐกิจที่ใช้น้ำน้อยและอายุเก็บเกี่ยวสั้น เข่น ข้าวโพด และถั่วเขียว เป็นต้น โดยรัฐช่วยเหลือสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ดีและปุ๋ยเคมีบางส่น หรือจัดหาแหล่งจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ดีและจัดหาตลาดรองรับผลผลิตของเกษตรกรไว้ด้วย

ในระยะยาวนั้น ได้มีแผนส่งเสริมให้เกษตรกรพิจารณาทางเลือกใหม่แทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อลดความเสี่ยงด้านพิบัติภัย ทั้งภัยแล้ง และน้ำท่วมโรคและแมลงศัตรูพืช รวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่ผันผวนและไม่มีเสถียรภาพ โดยการทำเกษตรแบบผสมผสานด้านปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงไก่พื้นเมือง แพะและโคเนื้อ เป็นต้น

"กระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้สำนักงานเกศตรจังหวัดในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด เร่งจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ รวมถึงมาตรการและแนวทางการช่วยช่วยเกษตรกรในพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยใช้ชัยนาทโมเดลเป็นต้นแบบการบริหารจัดการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยจัดทำเป็นโครงการแต่ละลุ่มน้ำ เพื่อเสนเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ให้พิจารณาโดยเร็ว" ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าว

ข้อมูลทั้งหมดจาก ryt9.com/s/tpd/2193381

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา