ทานตะวัน มีสรรพคุณ ขับลม แก้วิงเวียน แก้หลอดลมอักเสบ แก้โรคกระเพาะ

ทานตะวัน


ชื่อสมุนไพร : ทานตะวัน
ชื่อเรียกอื่นๆ : บัวตอง (ภาคเหนือ), ชอนตะวัน (ภาคกลาง), บัวทอง (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ทานตะวัน (ภาคกลาง), ทานหวัน (ภาคใต้), เซี่ยงยื่อขุย, เซี่ยงยื้อขุย (จีนกลาง) และ เหี่ยงหยิกขุ้ย (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Helianthus annuus L.
ชื่อสามัญ : Sunflower, Sunchoke
วงศ์ : ASTERACEAE (COMPOSITAE)

           ทานตะวันเป็นต้นไม้ที่หันหน้าเข้าหาแสงอาทิตย์เสมอ ดอกทานตะวันถือเป็นดอกไม้ที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่นสะดุดตา ทานตะวันเป็นไม้ที่ปลูกง่ายและโตเร็ว จัดเป็นพืชในวงศ์เดียวกับดอกคำฝอย ดาวเรือง ดาวกระจาย และบานชื่น ทานตะวันถือเป็นพืชที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคได้หลากหลายชนิด อีกทั้งยังเป็นพืชให้น้ำมันชนิดเดียวที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ ในอดีตชาวอินเดียนแดงนิยมรับประทานเมล็ดทานตะวันและใช้น้ำมันเมล็ดทานตะวันมานานแล้ว แต่ในปัจจุบันหลายประเทศหันมาปลูกทานตะวันกันมากขึ้น ซึ่งการปลูกมีจุดประสงค์เพื่อความสวยงามและการใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้

ลักษณะสมุนไพร :

ทานตะวันมีลำต้นตรง มีขนอ่อนปกคลุมอยู่ทั่ว สูงประมาณ 3-4 ฟุต ลำต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-10 เซนติเมตร ลำต้นส่วนใหญ่จะไม่แตกกิ่งก้านสาขา มีเฉพาะบางพันธุ์ที่อาจแตกกิ่งบ้าง ใบเป็นใบเดี่ยว มีลักษณะกลมรี เรียวยาว ปลายใบแหลม ขนาดกว้างประมาณ 4-8 นิ้ว ยาว 1 ฟุต ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย ใบออกสลับกันแบบตรงข้ามเวียนรอบลำต้น ดอกทานตะวันมีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานรองดอก ดอกบานที่โตเต็มที่มีขนาดประมาณ 5-10 นิ้ว ดอกมีสีเหลืองสด ตรงกลางดอกมีเกสรเป็นวงขนาดใหญ่ กลีบดอกบานแผ่เป็นวงกลม มีก้านช่อดอกทำหน้าที่ยึดช่อดอกติดกับลำต้น ผลทานตะวันหรือเมล็ดทานตะวันมีจำนวนมากอยู่ตรงฐานดอก ลักษณะผลเป็นรูปรีและแบนนูน ด้านหนึ่งมนอีกด้านหนึ่งแหลม ขนาดประมาณ 6-17 มิลลิเมตร เปลือกหุ้มแข็ง มีสีเทาเข้มหรือสีดำ ภายในผลมีเมล็ดสีเหลืองอ่อน 1 เมล็ด ลักษณะรียาว

ทานตะวันเป็นไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีแสงแดดจัด ดินแบบดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : แกนลำต้น, ดอก, ใบ, ฐานรองดอก, เมล็ด, เปลือกเมล็ด และ ราก

สรรพคุณทางยา :

แกนลำต้น ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะเป็นเลือดหรือปัสสาวะขุ่นขาว แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะและในไต

ดอก ช่วยขับลมและแก้วิงเวียน

ใบ แก้หลอดลมอักเสบ ใช้เป็นยาต้านโรคมาลาเรียและช่วยเสริมฤทธิ์ยาควินิน

ฐานรองดอก แก้อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย แก้ปวด แก้โรคกระเพาะ และรักษาฝีบวม

เมล็ด แก้โรคบิด ขับหนองใน รักษาฝีฝักบัว ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ และแก้ไข้หวัด

เปลือกเมล็ด แก้อาการหูอื้อ

ราก แก้อาการแน่นหน้าอก บรรเทาอาการฟกช้ำ เป็นยาระบายและช่วยขับปัสสาวะ

ทานตะวันแม้จะมีประโยชน์รอบด้าน แต่มีข้อแม้คือห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์

วิธีการใช้ :

แก้อาการวิงเวียน ใช้ฐานรองดอกแห้ง 25- 30 กรัม ตุ๋นกับไข่ 1 ฟอง รับประทานหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง
แก้อาการปัสสาวะขุ่นขาวและขับปัสสาวะ ใช้แกนกลางลำต้นและรากต้นจุ้ยขึ้งฉ่ายมาต้ม แล้วคั้นเอาน้ำผสมรับประทานกับน้ำผึ้ง

แก้อาการปวดท้อง ใช้ฐานรองดอก 30- 60 กรัม ผสมกับกระเพาะหมู 1 อัน ปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายแดง ประมาณ 30 กรัม ต้มให้สุก กรองเอาน้ำมารับประทาน
แก้อาการมูกโลหิต ต้มเมล็ดทานตะวัน 30 กรัม นาน 60 นาที เติมน้ำตาลเล็กน้อย ดื่มรับประทาน
ลดความดันโลหิต ใช้ใบสด 60 กรัม หรือใบแห้ง 30 กรัม ผสมกับโถวงู่ฉิกสด 60 กรัม ต้มเอาน้ำรับประทาน

แก้โรคไอกรน ตำแกนกลางลำต้นให้ละเอียด ผสมกับน้ำตาลทรายขาว ชงด้วยน้ำร้อนดื่มรับประทาน
แก้อาการไอ คั่วเมล็ดให้เหลือง ชงน้ำดื่มรับประทาน
ขับพยาธิไส้เดือน ต้มรากสดประมาณ 30 กรัม ผสมน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย ดื่มน้ำรับประทาน
ห้ามเลือด ตำแกนกลางลำต้นให้ละเอียด นำมาพอกบริเวณแผล

ข้อมูลจาก
thaiherbal.org

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา