ตั๊กแตนผี : ศัตรูพืช กัดกินใบ อ้อย กล้วย มะพร้าว สนทะเล


ชื่อภาษาอังกฤษ   Spotted grasshopper

ชื่อวิทยาศาสตร์   Aularches miliaris (L.)

ชื่อวงศ์และอันดับ        Pyrgomorphidae, Orthoptera

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ   

ตัวเต็มวัย  ตัวยาวราว 6-7 ซม. ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย หน้าขาว ปากดำ ขาดำ หลังอกปล้องแรกขรุขระเป็นตะปุ่มตะป่ำ มีสีเหลืองอมส้ม หรือส้มอมแดงฉูดฉาด และมีสีดำเป็นขอบ บนปีกคู่หน้ามีลายเป็นจุดสีเขียวสลับกับสีเหลืองกระจายอยู่ทั่วไป

ไข่ รวมอยู่เป็นถุง จำนวนถุงละ 40-115 ฟอง ขนาดไข่ยาว 7-9  มม. กว้าง 1.8-2.0 มม. ขนาดถุงไข่ยาว 5-9 ซม. กว้าง 1.1-1.9 ซม. ไข่ใหม่ๆสีเหลืองต่อมาเป็นสีน้ำตาล ระยะฟักไข่ 90-150 วัน

ตัวอ่อน มี 7 ระยะ กินเวลา 163-221 วัน ในเพศผู้ และ 159-203 วัน ในเพศเมีย

ตั๊กแตนผีสามารถปล่อยฟองน้ำลายออกจากปากมีกลิ่นเหม็น เป็นการป้องกันตัวยามคับขัน ตัวเต็มวัยมีอายุอยู่ได้นานประมาณ 170 วัน มีการผสมพันธุ์ในช่วงเดือนกันยายา-ตุลาคม แล้ววางไข่ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ไข่ฟักออกเป็นตัวในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม และเป็นตัวเต็มวัยประมาณเดือนกรกฎาคม-กันยายน  มีเพียง 1 ชั่วอายุขัยต่อปีหนึ่งๆ

พืชอาหารและลักษณะการทำลาย  กัดกินใบ อ้อย กล้วย มะพร้าว และสนทะเล พบมากบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันต์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ส่วนตั๊กแตนผีที่พบบริเวณจันทบุรีมีแผ่นหลังสีดำมาก มีปุ่มสีแดงตรงกลางเพียงเล็กน้อย


มารู้จัก “ตั๊กแตนผี”

จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีตั๊กแตนผีระบาดหนัก ในพื้นที่ทุ่งวัวแล่น จังหวัดชุมพร สร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตรเป็นวงกว้าง เรามาทำความรู้จักกับเจ้าตั๊กแตนชนิดนี้ ว่ามันมีพิษสงอย่างไร และเราจะกำจัดมันได้อย่างไร

ตั๊กแตนผี หรือตั๊กแตนจุด (Spotted grasshopper) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aularches miliaris (Linnaeus)
ลักษณะพิเศษในตั๊กแตนชนิดนี้ สังเกตได้ง่ายคือ ลำตัวมีสีดำ ปีกสีเขียวมีจุดสีเหลือง ส่วนคอขรุขระมีตุ่มสีเหลืองหรือสีส้ม หัวสีเขียวเข้ม ปากและส่วนท้องเป็นสีดำ ที่รอยต่อระหว่างปล้องท้องเป็นสีแดงหรือส้ม ลำตัวยาวประมาณ 6-7 เซนติเมตร การเคลื่อนย้ายไม่ไกลมากนักในช่วงตัวเต็มวัย

วงจรชีวิต

ใน 1 รอบปี ตั๊กแตนชนิดนี้จะขยายพันธุ์เพียงครั้งเดียว
ตัวเต็มวัยจะผสมพันธุ์เมื่อมีอายุ 129-180 วัน ระหว่างช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม
วางไข่ภายหลังผสมพันธุ์ 10-15 วัน ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม
เมื่อวางไข่แล้วตั๊กแตนจะตายหมด ตัวเมียวางไข่ 1-2 ฝัก ลักษณะคล้ายไข่ปาทังก้า แต่ฝักใหญ่กว่า แต่ละฝักมีไข่ 40-60 ฟอง
ใช้เวลา 3-5 เดือน ไข่จึงฟักเป็นตัวอ่อนอยู่บนดินทราย ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม
ตัวอ่อนมีอายุ 159-219 วัน มี 7 ระยะ (ลอกคราบ 7 ครั้ง) จึงกลายเป็นตัวเต็มวัย

ลักษณะการทำลาย

ตั๊กแตนตัวอ่อนจะทำลายวัชพืชต่างๆ ที่สามารถเป็นอาหารได้
ตัวอ่อนระยะที่ 1-2 (ออกจากไข่ 7-14 วัน) จะรวมกันเป็นกลุ่ม ไปไหนจะไปด้วยกัน
เมื่อโตขึ้นจะเริ่มทำลายใบพืชต้นโตๆ เช่น มะพร้าว กล้วย สน จุดที่ตั๊กแตนจะกินเป็นอาหารในวัยแรกๆ (ตัวอ่อนระยะที่ 1-3) คือ ทำลายใบเตี้ยๆ เมื่อโตขึ้นจะเริ่มขึ้นต้นไม้สูง

พืชอาหาร

ตั๊กแตนผีเป็นศัตรูพืชหลายชนิด เช่น มะพร้าว สนทะเล สนปฎิพัทธ์ หมาก มังคุด มะม่วง กล้วย ฝรั่ง ทุเรียน กล้าข้าว ข้าวโพด มะม่วงหิมพานต์ สาบเสือ ตาตุ่ม ผกากรอง มะหวด เหียง ตะแบก เปล้า ระหัดน้ำ ติ้ว ตะกู แก้ว หนามเคล็ด ตะเคียนทอง ตะเกียบ ยางพารา ปาลมน้ำมัน เสลาใบใหญ่ เสี้ยวป่า กระพี้เขาควาย หม่อน หญ้าใบไผ่ ใบส้มดีงา ใบไม้กวาด บอน มะคำไก่ กระดูกไก่ ขี้ขม ใบเมา พลับ ยาง คัดเค้า อ้อดัง อีเหม็น และคาง

อุปนิสัย

ตั๊กแตนวัย 3-4 อายุประมาณ 3-4 สัปดาห์ จะเริ่มเคลื่อนย้ายในทางสูง ถ้าพบต้นมะพร้าว หรือ ต้นสน จะขึ้นสู่ต้นไม้ทันทีเพื่อกินเป็นอาหาร
เมื่อถึงระยะผสมพันธุ์และวางไข่ ตั๊กแตนจะลงจากยอดพืชสู่พื้นดิน
เมื่อถูกรบกวนให้ตกใจจะผลิตสารเป็นฟองสบู่ออกมาข้างอกส่วนแรก ซึ่งสารนี้จะมีกลิ่นรุนแรง


เอกสารอ้างอิง
- เอื้อเฟื้อข้อมูลจาก ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- โกศล เจริญสม. 2525. แมลงอ้อย. ภาควชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน, กรุงเทพมหานคร. 108 หน้า.

ข้อมูลจาก
- biotec.or.th
- ocsb.go.th

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา