การปลูกถั่วฝักยาว : เทคนิคการปลูกถั่วฝักยาวปลอดสารพิษ


คุณพัฒนา วงคำ เกษตรกรวัย 42 ปี แห่งจังหวัดร้อยเอ็ด   และสามี


คุณพัฒนาจะปลูกถั่วฝักยาวสลับกับแตงกวาปีละสองครั้งหลังจากเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จ ซึ่งการปลูกแบบนี้สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ผลผลิตที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร เป็นแหล่งผลิตพืชปลอดภัย (GAP) การผลิตพืชตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม โครงการความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) ด้านพืช ชนิดพืช ถั่วฝักยาว ปี 2550

เทคนิคการปลูกถั่วฝักยาวปลอดสาร มีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้

ก่อนอื่นเราต้องทำความรู้จักและรู้จักถั่วฟักยาวกันก่อน

ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่ลักษณะดินที่มีความเหมาะสมในการปลูก คือดินร่วนทราย หรือดินร่วนปนทราย



ไถพรวนความลึกประมาณ 6-8 นิ้ว ตากดินทิ้งไว้ 7 วัน เพื่อทำลายไข่แมลง และศัตรูพืชบางชนิดในดิน

การเตรียมดินสำหรับ การปลูกถั่วฝักยาวปลอดสารพิษ

ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่มีระบบรากละเอียดต่อการเตรียมดินที่ดีจะช่วยให้การเจริญเติบโตสมบูรณ์และสม่ำเสมอ ขั้นตอนแรกให้ไถพรวนความลึกประมาณ 6-8 นิ้ว ตากดินทิ้งไว้ 7 วัน เพื่อทำลายไข่แมลง และศัตรูพืชบางชนิดในดิน เก็บเศษวัชพืชออกจากแปลงให้หมด จากนั้นจึงไถคราด ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น
การยกร่องสำหรับถั่วฝักยาวนั้น ปกติจะยกร่องกว้างประมาณ 1เมตร (ความยาวดูตามความเหมาะสมกับสภาพแปลง) และเตรียมร่องระหว่างแปลงสำหรับเข้าไปปฏิบัติงาน กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร

 

การเตรียมเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก / การปลูกถั่วฝักยาว

การปลูกถั่วฝักยาวในเนื้อที่ 1 ไร่ จะใช้เมล็ดพันธุ์ 3-4 กิโลกรัม

นำเมล็ดพันธุ์ไปทดสอบความงอก คัดเมล็ดที่มีตำหนิออก และควรคลุกเมล็ดด้วยไตรโคเดอร์มาเชื้อสด เพื่อป้องกันเชื้อรา และโรครากเน่าโคนเน่า ใช้จอบขุดหลุมให้ระยะระหว่างแถวห่างกัน 80 ซม. ระยะระหว่างหลุม 50 ซม. โดยให้หลุมลึกประมาณ 4 นิ้ว หยอดเมล็ดหลุมละ 3-4 เมล็ด แล้วกลบดินให้ลึกประมาณ 5 เซนติเมตร จากนั้นรดน้ำทันที


หลังจากถั่วฝักยาวแตกใบจริง 1 อาทิตย์ ให้ฉีดบำรุงด้วยน้ำหมักปลาร้า (ภาพล่าง)ผสมกับน้ำหมักหน่อกล้วย (ภาพบน)


วิธีการทำน้ำหมักปลาร้า

วัตถุดิบ 

1. เศษปลา 20 กิโลกรัม
2. กากน้ำตาล 4-5 กิโลกรัม
3. EM 4-5 ลิตร

วิธีทำ หมักส่วนผสมไว้ประมาณ 1-3 เดือน ก็สามารถนำไปใช้ได้

การนำไปใช้ ใช้บำรุงพืช หลังจากที่ถั่วเริ่มแตกใบจริงประมาณ 1อาทิตย์ อัตรา น้ำหมักปลาร้า 30 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร


วิธีการทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย

ส่วนผสม 
1. หน่อกล้วย 3 กิโลกรัม
2. กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม

วิธีทำ ขุดหน่อกล้วยต้นสมบูรณ์ที่ไม่เป็นโรค สูงไม่เกิน 1 เมตร เอาเหง้าพร้อมรากให้มีดินติดรากมาด้วย สับให้ละเอียด ใส่กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม หมักในภาชนะพลาสติก มีฝาปิด คนเช้า – เย็น ทุกวัน ครบ 7 วัน คั้นเอาแต่น้ำเก็บไว้ น้ำหมักที่ได้ คือ จุลินทรีย์หน่อกล้วย เก็บไว้ใช้ได้ 6 เดือน - 1 ปี

การนำไปใช้  ใช้บำรุงพืช หลังจากที่ถั่วเริ่มแตกใบจริงประมาณ 1อาทิตย์ อัตรา จุลินทรีย์หน่อกล้วย 30 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

การดูแลรักษา

- การให้น้ำระยะ 1-7 วัน ควรให้ทุกวัน ๆ ละ 1 ครั้ง แล้วแต่สภาพภูมิอากาศ และสภาพดินด้วย หลังจากหยอดเมล็ดแล้วประมาณ 5-7 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก

- ต้นกล้าเริ่มมีใบจริงประมาณ 4 ใบ ถอนแยกต้นกล้าให้เหลือต้นแข็งแรงไว้ 2 ต้นต่อหลุม ขณะที่ถอนแยกให้พรวนดินและกำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้วัชพืชมาแย่งน้ำ และอาหารจากถั่วฝักยาว

-จากนั้นให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรแฉะเกินไป ระยะเจริญเติบโตหลังจากถอนแยกแล้วควรให้น้ำทุก 3-5 วันต่อครั้ง ให้ตรวจสอบความชื้นในดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต ระบบการที่ใช้ในสวนจะเป็นระบบน้ำหยด ซึ่งมีข้อดีตรงที่ประหยัดน้ำ เนื่องจากพื้นที่สวนของคุณพัฒนาค่อนข้างจะขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง

การทำค้าง

ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ต้องอาศัยค้างเพื่อเกาะพยุงลำต้นให้เจริญเติบโต ไม้ที่ใช้สำหรับทำไม้ค้างนั้นใช้ไม้ไผ่ หรือไม้อื่น ๆ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยการสร้างโครงเสาแล้วใช้ไม้ไผ่พาดด้านบน และใช้เชือกห้อยลงมายังลำต้นถั่วฝักยาวให้เลื้อยขึ้น ระยะเวลาการใส่ค้างถั่วฝักยาวนั้นจะเริ่มใส่หลังจากงอกแล้ว 15-20 วัน โดยจับต้นถั่วฝักยาวให้พันเลื้อยขึ้นค้างในลักษณะทวนเข็มนาฬิกา


เคล็ดลับของความสำเร็จ

การบำรุงโดยการใช้น้ำหมักชีวภาพ

- เมื่อมีใบประมาณ 2 ใบ ให้ฉีดพ่นบำรุงด้วยจุลินทรีย์หน่อกล้วยให้ทั่ว

- หลังจากถั่วฝักยาวแตกใบจริง 1 อาทิตย์ ให้ฉีดบำรุงด้วยน้ำหมักปลาร้าผสมกับน้ำหมักหน่อกล้วย

- หลังจากที่ปลุกประมาณ 3 เดือน ให้ฉีดพ่นด้วยฮอร์โมนนม เพื่อเร่งดอก อัตรา 80 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร เพื่อเร่งการออกดอก ฉีดติดต่อกันจนกว่าถั่วจะออกดอก ระยะเวลาในการฉีดพ่น ประมาณ 7 วัน/ครั้ง

- เมื่อถั่วเริมออกดอก ให้ฉีดพ่นด้วยฮอร์โมนนม ผสมกับฮอร์โมนไข่ ผสมกับน้ำ อัตรา 80 ซีซี:80ซีซี:20 ลิตร ฉีดติดต่อกันจนกว่าถั่วจะติดผล ระยะเวลาในการฉีดพ่น ประมาณ 7 วัน/ครั้ง

- ช่วงถัวฝักยาวติดผลให้ฉีดบำรุงด้วยน้ำหมักหมักรวม (ฮอร์โมนนม+ฮอร์โมนไข่+น้ำหมักผลไม้+น้ำหมักปลาร้าอัตรา 40:40:40:40 ซีซี /น้ำเปล่า 20 ลิตร) ฉีดติดต่อกัน 3-4 วันครั้งจนกว่าจะเก็บผลผลิต

- ถ้าช่วงไหนพบแมลงศัตรูพืช ก็จะฉีดพ่นด้วยน้ำส้มควันไม้ เพื่อป้องกันกำจัดแมลง อัตรา 60 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร


หลังจากหยอดเมล็ดประมาณ 50-60 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ ให้เลือกเก็บฝักขนาดพอดี ไม่อ่อนเกินไป



ถั่วฝักยาวปลอดสารพิษ ฝักจะอวบ น่ารับประทาน อีดทั้งปลอดภัย ไม่มีพิษภัยต่อรางการแน่นอน
ซึ่งในการปลูกแต่ละรอบสามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 1 เดือน
 

การเก็บผลผลิต

ควรเก็บช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เก็บเสร็จถ้าให้ถั่วโดนแดด เพราะจะทำให้ฝักเหี่ยวหรือฝ่อเร็ว dการเก็บให้ทยอยเก็บ 2-3 วัน/ครั้ง ซึ่งสามารถเก็บติดต่อกันได้ประมาณ เดือนครึ่ง ปีหนึ่งคุณพัฒนาสามารถปลูกถั่วได้ประมาณ 6 ครั้ง ครั้งละ 2 งาน ขายตลาดในชุมชน และตามตลาดนัด ผลผลิตที่ได้ประมาณ 1.6 ตัน/ครั้ง


ข้อมูลจาก
thailand-farm.com

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา