การปลูกกล้วยหอมกะเหรี่ยง


กล้วยหอมกะเหรี่ยงเป็นกล้วยที่นิยมของผู้บริโภค เนื่องจากผลสุกเป็นสีเหลือง เนื้อในสุกเหนียวหนึบ มีกลิ่นหอม รสหวานปนเปรี้ยวนิด ๆ รับประทานอร่อย โดยนิยมปลูกกันมากในแถบจังหวัดกาญจนบุรีและเพชรบุรี
 
ในอดีตกล้วยหอมกะเหรี่ยงนิยมปลูกเฉพาะหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ในแถบ จ.กาญจนบุรี แต่ปัจจุบันได้มีเกษตรกรหันมาปลูกกันมากขึ้นในหลายพื้นที่ เป็นกล้วยหอมที่ลำต้นแข็งแรง เมื่อตกเครือจึงแทบจะไม่จำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำเหมือนกับกล้วยหอมทอง ในหนึ่งเครือจะมี 10-12 หวี หวีละ 14-16 ผล ผลมีลักษณะคล้ายกล้วยหอมทอง แต่ปลายผลทู่ เมื่อสุกผิวจะมีสีเหลืองทอง เนื้อในสีส้มอ่อน รสหวานหอม เปลือกบาง มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ลำต้นสูง 2.5-3 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 15 เซนติเมตร ก้านใบเปิดกว้าง มีปีก กาบลำต้นด้านนอกมีปื้นหนาสีดำ ด้านในมีสีชมพู ก้านช่อดอกมีขน ใบประดับรูปไข่สีม่วงเข้ม ปลายแหลมและม้วนขึ้น ดอกตัวผู้สีงาช้าง จะหลุดร่วงหลังจากใบประดับหลุดแล้ว ส่วนดอกตัวเมียมีสีเหลือง ก้านตรง ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียมีความยาวใกล้เคียงกัน กลีบรวมใหญ่สีเหลืองอ่อน ปลายสีเหลือง กลีบรวมเดี่ยวสีขาวใสมีรอยหยักที่ปลาย
 
กล้วยหอมกะเหรี่ยงปลูกได้โดยใช้หน่อ ที่แยกมาจากต้นแม่ที่มีความสูงประมาณ 50–60 ซม. ก่อนปลูกเตรียมดินด้วยการไถพรวนยกร่อง กล้วยหอมเป็นพืชที่ต้องการน้ำเยอะ ฉะนั้นควรปลูกบนร่อง ไม่ควรปลูกบนหลังแปลงปลูกในท้องร่องจะง่ายต่อการให้น้ำ ระยะการปลูกประมาณ 2 เมตรครึ่ง หนึ่งไร่จะปลูกได้ประมาณ 80 ต้น
 
หลุมปลูกประมาณ 50x50 ซม. ลึกประมาณ 50 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก หลุมละ 1 กิโลกรัม จากนั้นใช้หน่อปลูกลงไปใช้ดินคลุมรอบโคนต้น รดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นให้น้ำอย่างน้อย 7 วันต่อ 1 ครั้ง ดินที่เหมาะสมต่อการปลูก คือ ดินร่วนปนทราย ประมาณ 1 เดือน หน่อกล้วย
จะแทงยอดขึ้นมา ให้ใช้มีดเฉือนให้ได้ระยะจากพื้นดิน ประมาณ 50 ซม. เพื่อง่ายในการดูแลรักษา และความสูงของต้นเมื่อเติบโตเต็มที่แล้ว จะไม่แย่งกัน ประมาณเดือนครึ่งใส่ปุ๋ยคอกโดยโรยรอบโคนต้นแล้วให้น้ำทันที
       
ประมาณ 8 เดือน กล้วยก็จะตกเครือ ในระหว่างนี้ต้องกำจัดหญ้า หรือวัชพืชอื่น ๆ ศัตรูของกล้วยหอมที่สำคัญ คือ ด้วงงวงสีดำ ตัวด้วงงวงนี้จะเป็นตัวทำลายเนื้อเยื่อของกล้วยหอมที่กำลังเจริญเติบโต โดยตัวแม่จะเจาะบริเวณโคนใบ โคนก้านใบของกล้วยหอมแล้วไข่ลงไป ตัวอ่อนจะไชเข้าไปตามก้านใบสู่เนื้อเยื่อของกล้วยหอม เข้าไปดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้กล้วยหอมมีน้ำยางไหล อาหารที่จะไปเลี้ยงกล้วยหอมไม่พอ ฉะนั้นควรหมั่นตรวจดูบริเวณโคนต้น หรือลำต้น รอบโคนต้นควรสะอาดไม่ให้รกรุงรัง ปัจจุบันกล้วยหอมกะเหรี่ยงจะจำหน่ายกันหวีละ 20 บาทในหวีใหญ่ ส่วนหวีเล็กราคาประมาณ 10 บาท ถ้านำไปจำหน่ายเอง ราคาหวีละ 25–30 บาท
 
กล้วยหอมอุดมไปด้วยเส้นใย ดังนั้นจึงช่วยเสริมให้การย่อยอาหารของลำไส้เล็กดีขึ้น ในเวลาเดียวกันสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกล้วยหอมยังจะช่วยเคลือบผิวของกระเพาะ จึงลดการเป็นแผลในกระเพาะได้อีกด้วย

ข้อมูลจาก royyimbaandin.com

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา