กรมหมอดิน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ ของเกษตรกร


สถานการณ์ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรทั่วประเทศไทยแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งปลูกพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะผลไม้หลากหลายชนิดที่จำเป็นต้องใช้น้ำในปริมาณมากพอสมควรจึงจะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด

นายก่อเกียรติ จันทร์พึ่งสุข ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า พื้นที่ภาคตะวันออกที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 ดูแลรับผิดชอบมีอยู่ด้วยกัน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา สระแก้วและปราจีนบุรี ซึ่งขณะนี้ทุกจังหวัดที่รับผิดชอบมีปัญหาขาดแคลนน้ำทั้งสิ้น เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกจะเน้นหนักไปทางสวนไม้ผลและไม้ยืนต้น ที่จำเป็นต้องใช้น้ำในปริมาณมากและเพียงพอ จึงจะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดี สำหรับข้อจำกัดของพื้นที่ภาคตะวันออกคือ แม้ว่าปริมาณฝนจะตกมากในแต่ละปี แต่ปริมาณการกักเก็บน้ำได้มีเพียงแค่ 20% ของพื้นที่ ซึ่งถือว่าน้อยมาก ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยเฉพาะในช่วงฝนทิ้งช่วงทำให้ขาดแคลนน้ำไม่ต่างจากเกษตรกรในภาคอื่น

กรมพัฒนาที่ดิน มีโครงการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรในเรื่องดังกล่าว โดยจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ

แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ แหล่งน้ำชุมชน แหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน โดยแหล่งน้ำทั้ง 3 ประเภทมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะการใช้งาน คือ ถ้าเป็นแหล่งน้ำชุมชน จะดำเนินการในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่โดยรอบได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ขั้นตอนการเลือกพื้นที่ดำเนินการ เน้นไปที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้แจ้งเรื่องความเดือดร้อนเข้ามายังสถานีพัฒนาที่ดินในจังหวัดนั้นๆ ทางสถานีพัฒนาที่ดินก็จะเข้าไปตรวจสอบว่ามีความเดือดร้อนจริง จึงส่งเรื่องต่อมายังสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต และส่งไปยังกรมพัฒนาที่ดิน จากนั้นก็ส่งวิศวกรมาสำรวจออกแบบ และจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการ
จัดสร้างแหล่งน้ำชุมชน พร้อมทั้งวางระบบน้ำ ระบบไฟ และพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ จัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำ บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำชุมชนต่อไป

ส่วนแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ก็จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่สาธารณประโยชน์เช่นกัน โดยทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะเป็นผู้ส่งเรื่องความเดือดร้อนเข้ามายังสถานีพัฒนาที่ดินในพื้นที่ ว่ามีความจำเป็นในการใช้น้ำ เมื่อกรมพัฒนาที่ดินพิจารณาเรื่องแล้วก็จัดสรรงบประมาณมาดำเนินการขุดลอกคลอง ทำฝายน้ำล้น เป็นต้น ซึ่งทั้งแหล่งน้ำชุมชนและแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่ดำเนินการในพื้นที่สาธารณประโยชน์ เมื่อก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยกรมพัฒนาที่ดินก็จะส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการการใช้ประโยชน์เอง โดยยังมีเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินคอยเป็นพี่เลี้ยงหรือให้คำแนะนำด้านต่างๆ อยู่

สำหรับแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร หรือเรียกว่า บ่อจิ๋ว จะแตกต่างกับแหล่งน้ำ
2 ประเภทแรก คือ ดำเนินการในพื้นที่ของเกษตรกรเป็นรายบุคคล โดยพื้นที่ที่จะขุดบ่อจิ๋วได้เกษตรกรต้องมีเอกสารสิทธิที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้เท่านั้น และจะต้องออกเงินสมทบจำนวน 2,500 บาทต่อบ่อ

หากเกษตรกรรายใด หรือชุมชนไหนประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ สามารถยื่นเรื่องมายังสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดในพื้นที่ของท่านได้ ซึ่งทุกสถานีพัฒนาที่ดินพร้อมจะพิจารณาคำร้อง และเสนอต่อกรมพัฒนาที่ดิน ในการจัดสรรงบประมาณลงมาดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป

ข้อมูลจาก naewna.com/local/166581

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา