กุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืด เลี้ยงได้ทุกที่ ทุกภาคในไทย


ท่ามกลางกระแสของการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง (เครย์ฟิช) หรือล็อบสเตอร์น้ำจืด กำลังมาแรงในยุคเศรษฐกิจฝืด ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยยังข้องใจว่ากุ้งชนิดนี้จะเป็นกุ้งเศรษฐกิจที่เลี้ยงมาเพื่อบริโภค หรือเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงาม และจะเลี้ยงง่ายหรือไม่อย่างไร และมีตลาดรองรับที่ไหนบ้าง ทำให้ทีม "ท่องโลกเกษตร" ต้องเสาะแสวงหาความจริงจากผู้ที่เลี้ยงกุ้งชนิดนี้โดยตรงในพื้นที่ภาคตะวันออก จากแหล่งที่เลี้ยงในรูปแบบต่างๆ ทั้งในนาข้าว บ่อดิน บ่อซีเมนต์ และบ่อพลาสติกในพื้นที่ จ.ชลบุรี และจ.สระแก้ว

เราเริ่มต้นที่ศูนย์การเรียนรู้ชีววิถีเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ที่บ้านห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ของ "ประทีป มายิ้ม" ที่ใช้บ้านตัวเองกว่า 1 ไร่ มาทำเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดวิชาด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

การเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์ในศูนย์การเรียนรู้ชีววิถีเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืนบ้านห้วยใหญ่นั้น ประทีป จำลองพื้นที่นาขนาดย่อม 3X5 เมตร ขังน้ำลึกราว 10-15 ซม. ภายในนาจำลองปลูกข้าวหอมนิล แหน สาหร่ายหางกระรอกรกพื้นที่เต็มไปหมด รอบๆ พื้นที่นากั้นด้วยตาข่าย เพื่อป้องกันศัตรูของกุ้งไม่ว่าจะเป็นแมว นก และหนู ที่อาจเล็ดลอดเข้าไปกินกุ้งที่เลี้ยงไว้ 500 ตัว

"ผมไม่รู้จักกุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืดมาก่อน เมื่อ 4 ปีก่อน ลูกสาวไปเที่ยวงานเกี่ยวกับการเกษตร ที่.สระแก้ว ซื้อลูกกุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืดมา 4 ตัว ขนาด 1 นิ้วกว่า ราคาตัวละ 30 บาท ตอนแรกคิดว่าเป็นกุ้งสวยงาม เลยไปปล่อยในอ่างเลี้ยงปลาหางนกยูง โดยที่ไม่ให้อาหาร เพราะไม่ทราบว่ากินอะไร เลี้ยงไปได้ระยะหนึ่งสังเกตเห็นสาหร่ายหางกระรอกลดน้อยลง สงสัยว่ากุ้งชนิดนี้คงกินแน่นอน จน 3 เดือนผ่านไป กุ้งตัวโตเท่าหัวแม่มือยาวราว 3-4 นิ้ว จึงย้ายลงบ่อปูนที่มีขนาดใหญ่กว่า ผ่านไป 2 เดือนเห็นลูกกุ้งเต็มบ่อไปหมด" ประทีบ ย้อนถึงการเริ่มเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืด

จากการสังเกตพฤติกรรมเห็นกุ้งกินสาหร่ายหางกระรอกได้ ประทีบ จึงคิดว่าน่าจะกินพืชอื่นได้ จึงทดลองเอาแหนมาใส่ ปรากฏว่ากุ้งกินเหมือนกัน จนลูกกุ้งโตขึ้นมาก และมีบรรดาผู้ที่ไปอบรมได้พบเห็นต่างชอบใจ และขอซื้อลูกกุ้งไปเลี้ยง ตรงนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ประทีบ มองถึงอนาคตในการเลี้ยงชนิดนี้ บางครั้งอาจเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ เพราะราคาดีพอสมสมควร ที่สำคัญสามารถขยายพันธุ์รวดเร็ว แม่กุ้ง 1 ตัว จะออกไข่ให้ปีละ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งจะออกหลายร้อยตัว และถึงหลักพันตัว

"ตอนหลังผมทราบว่าเป็นกุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืดและมีการเลี้ยงในนาข้าวที่สระแก้ว ผมเลยทำแปลงนาจำลอง เพื่อเป็นแปลงสาธิตในการเลี้ยงแบบชีววิถี จากนั้นปล่อยกุ้งลงไปจำนวน  500 ตัว โดยภายในแปลงมีการนำสาหร่ายหางกระรอก จอกแหน ลงไปให้รก เพราะยิ่งรก ยิ่งจะรอด เพราะกุ้งจะกินพืชเหล่านี้เป็นอาหาร ผมเลยเลี้ยงแบบชีววิถีปล่อยให้กินพืช เวลาผ่านไปสามารถสร้างรายได้ให้ปีละกว่า 2 แสนบาท หลังข่าวแพร่กระจายออกไป มีโรงแรมชั้นนำในพัทยา สั่งกุ้งเพื่อเป็นอาหารต้องการขนาด 2 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม เสนอราคามากิโลกรัมละ 1,200 บาท แต่ยังผลิตไม่ทัน" ประทีบ กล่าว

ออกจากศูนย์การเรียนรู้ชีววิถีเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืน บ้านห้วยใหญ่ มุ่งหน้าสู่ จ.สระแก้ว จุดหมายปลายทางที่สหกรณ์การเกษตรเขื่อนพระปรง จำกัด ที่บ้านระเบาะหูกวาง หมู่ 6 ต.ช่องกุ่ม อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ซึ่งมีสมาชิกจำนวนหนึ่งเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืดในนาข้าว อีกส่วนหนึ่งเลี้ยงในบ่อดิน บ่อปูน และบ่อสพลาสติก จุดแรกที่เราไปดูที่บ่อเลี้ยงในนาข้าวของประธานสหกรณ์" อำนาจ ยาสา ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ในการเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์ด้วย

อำนาจ บอกว่า เริ่มศึกษาการเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืด จากสถานีเกษตรกรหลวงอินทนนท์ หรือโครงการหลวงดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ที่ทดลองเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2549 จึงมองว่าสมาชิกของสหกรณ์กว่า 50 คน มีอาชีพทำนาเป็นหลัก บางปีประสบปัญหาขาดทุน จึงมองเห็นโอกาสที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในนาข้าว จึงได้ศึกษาอย่างจริงจัง ไปดูวิธีการเลี้ยง การเพาะพันธุ์ลูกกุ้งและนำมาทดลองเลี้ยงร่วมกับสมาชิกจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

"กุ้งชนิดนี้มีจุดเด่นคือ ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่างๆ จึงสามารถเลี้ยงได้ในสภาพแวดล้อมทั่วไปได้ แม้แต่ในนาข้าว ในบ่อดินหรือกระชังในแม่น้ำ มีอัตราการตายน้อยมาก อย่างในนาของผม พื้นที่ 1 ไร่ เราสามารถปล่อยกุ้งได้ 2,000-4,000 ตัว เลี้ยง 4 เดือน ตัวผู้ได้ 8-12 ตัวต่อกิโลกรัม ตัวเมีย 14-20 ตัวต่อกิโลกรัม เลี้ยง 4 เดือน อย่างน้อยต้องได้กว่า 100 กิโลกรัม ขายง่ายๆ ราคากิโลกรัมละ 500 บาท เราจะมีรายได้ 5 หมื่นบาท ถ้าปลูกข้าวอย่างเดียวมีกำไรไม่เกิน 2,000 บาท ถ้าขายแม่พันธุ์ขนาด 4 นิ้ว ขายตัวละ 100 บาท" อำนาจ กล่าว

สำหรับการเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์ในน้ำจืด ต้องยกคันล้มให้สูง เพื่อขังน้ำให้สูงกว่าระดับน้ำในนาข้าวทั่วไป และป้องกันศัตรูธรรมชาติ บริเวณรอบขอบบ่อ 1 ใน 4 ส่วน ขุดให้ลึก 50-70 ซม. เพื่อเป็นที่อาศัยของกุ้งในช่วงกลางวัน เพราะกุ้งชนิดนี้จะนอนพักในระดับน้ำที่ลึกลงไป ส่วนพื้นที่ตรงกลางบ่อ ระดับน้ำสูง 30 ซม. ซึ่งเป็นระดับน้ำในการทำนาปกติ พื้นที่ส่วนนี้กุ้งจะขึ้นมาอาศัยและหากินในช่วงกลางคืนนั่นเอง

จากแปลงนาของอำนาจ เราไปดูการเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์ในบ่อปูน และบ่อพลาสติกของ สมศักดิ์ กันอาอางค์ เกษตรกรวัย 75 ปี ที่ ต.ช่องกุ่ม อ.วัฒนานคร หนึ่งในสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรเขื่อนพระปรง ซึ่งเลี้ยงในบ่อขนาด 5X5 เมตร เพิ่งเลี้ยงมาได้ 2 รุ่นแล้ว โดยครั้งแรก สมศักดิ์ลงทุนสร้างบ่อพลาสติก 2 บ่อ เป็นเงิน 2 หมื่นบาท ปล่อยกุ้งบ่อละ 1,500 ตัว เลี้ยงชุดแรก 3 เดือน ขายได้ 3.5 หมื่นบาท คุ้มทุนแล้ว และรุ่นต่อไปจะเลี้ยง 4 เดือน คาดว่าจะได้หลักแสนบาท ถือว่ารายได้ดีกว่าทำนาหลายเท่าตัว

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลคร่าวๆ ของการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงหรือล็อบสเตอร์น้ำจืด ที่ทีมงานสำรวจมา แต่เวลามีจำกัดใกล้จะมืดค่ำเราจึงอำลาบ่อกุ้ง มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมไปทำงานตามปกติในวันรุ่งขึ้น

ข้อมูลจาก komchadluek.net

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา