เปลี่ยนข้าวโพดเป็น มะม่วงน้ำดอกไม้ สินค้าเกษตรทำเงิน


แม้จะเคยเป็นพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผักกะหล่ำและสวนลำไย ทว่าวันนี้กลับกลายเป็นสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนับพันไร่ที่สร้างรายได้อย่างงามให้เกษตรกรใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ภายใต้การนำของ "ลุงสุวิทย์ อุททาเศษ" วัย 67 ปี ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนามะม่วงเพื่อคุณภาพบ้านปางเฟื่อง ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว ที่ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออกให้แก่เกษตรกรในพื้นที่

ลุงสุวิทย์ เล่าว่า ศูนย์แห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 45 ไร่ แบ่งเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง 35 ไร่ มะม่วงมันขุนศรี 10 ไร่ เริ่มปลูกมะม่วงมาตั้งแต่ปี 2550 จากนั้นได้รวมกลุ่มสมาชิกที่ปลูกมะม่วงเศรษฐกิจ น้ำดอกไม้สีทอง มันขุนศรี และมหาชนก ไปขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน กลุ่มพัฒนามะม่วงเพื่อคุณภาพส่งออกเมื่อปี 2552 กับสำนักงานเกษตรอำเภอเชียงดาว โดยมีสมาชิกทั้งหมด 14 คน ในระยะแรกผลผลิตที่ออกมาต้องนำผลผลิตไปจำหน่ายที่ อ.พร้าว เนื่องจากผลผลิตไม่มากพอที่พ่อค้าจะมาเปิดจุดรับซื้อ จากนั้นในปี 2556 ผลผลิตมะม่วงของ อ.เชียงดาว เริ่มให้ผลผลิตมากขึ้น คณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนระดับอำเภอได้ไปติดต่อพ่อค้าให้มาตั้งจุดรับซื้อมะม่วงเพื่อส่งออกในพื้นที่ อ.เชียงดาว เพื่อส่งไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น

ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนามะม่วงคนเดิมยอมรับว่า ที่ผ่านมาสำนักงานเกษตรอำเภอเชียงดาวได้สนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการเทคโนโลยีการผลิต ขณะเดียวกันก็มีโอกาสเดินทางไปศึกษาองค์ความรู้การปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากแหล่งต่างๆ แล้วนำไปถ่ายทอดให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชน ได้พัฒนาคุณภาพของผลผลิตมะม่วงไปพร้อมกัน จนได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรต้นแบบ (สมาร์ทฟาร์มเมอร์) เรื่องการผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออกของ อ.เชียงดาว

ขณะที่ กฤษฎาพร บุตรแก้ว เกษตรอำเภอเชียงดาว กล่าวถึงพื้นที่ปลูกมะม่วงใน อ.เชียงดาว ว่าปัจจุบันมีทั้งหมด 22,083 ไร่ ให้ผลผลิต 12,749 ไร่ สามารถสร้างรายได้รวมประมาณ 337 ล้านบาทต่อปี โดยมีมะม่วงที่ปลูกหลายชนิด อาทิ มะม่วงแก้ว มะม่วงโชคอนันต์ มันขุนศรี มหาชนก แต่ที่ทำรายได้มากที่สุดคือน้ำดอกไม้สีทอง เฉลี่ยปีละประมาณ     126 ล้านบาท ปัจจุบันการพัฒนามะม่วงคุณภาพส่งออกของวิสาหกิจชุมชนใน อ.เชียงดาว มีทั้งหมด 9 วิสาหกิจชุมชน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการปลูกมะม่วงเป็นอย่างดี โดยมีการพัฒนาคุณภาพผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ (สมาร์ทฟาร์มเมอร์) เน้นการผลิตมะม่วงปลอดภัย (สมาร์ทโปรดักส์) ตามหลักเกณฑ์การผลิตเกษตรที่ดี (จีเอพี) ทุกราย (สมาร์ท กรุ๊ป) ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและเป็นอาชีพที่ยั่งยืน

"เชียงดาวมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากเป็นอันสองรองจาก อ.แม่แจ่ม มีปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำกิน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภัยธรรมชาติและเกิดปัญหาในเรื่องหมอกควัน ในปี 2557 สำนักงานเกษตรอำเภอจึงได้ร่วมกับกลุ่มวิสากิจชุมชนจัดโครงการเกษตรกรสัญจรเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกมะม่วงให้แก่เกษตรกร โดยมีเป้าหมายเพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อให้พวกเขาเหล่านี้มีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น" เกษตรอำเภอเชียงดาวกล่าวย้ำ

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง นับเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่มีอนาคตให้เกษตรกรในพื้นที่ อ.เชียงดาว ที่จะมาแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผัก กะหล่ำและทำสวนลำไยที่เสี่ยงต่อปัญหาราคาตกต่ำและไม่มีตลาดรองรับที่แน่นอน

ข้อมูลจาก komchadluek.net

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา