ดินชั้นดาน กับการปลูกพืช


คำถาม พื้นที่ที่เป็นดินชั้นดาน จะมีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างไรครับ ช่วยยกตัวอย่างการปลูกพืชแบบต่างๆ ให้ด้วยครับ

แสงทอง มิ่งดี  อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร

คำตอบ ชั้นดาน เป็นชั้นดินที่อัดตัวแน่นทึบ หรือชั้นที่มีสารเชื่อมอนุภาคดินมาจับตัวกันแน่นทึบ และแข็ง จนเป็นอุปสรรคต่อการชอนไชของรากพืช การไหลซึมของน้ำและอากาศ นักวิชาการเกษตร ได้ศึกษาและให้คำแนะนำไว้ดังนี้ ชั้นดาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.ชั้นดานแข็ง เป็นชั้นแข็งเชื่อมกัน
แน่นโดยสารเชื่อม สารเชื่อมมีหลายชนิด และมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดของสารเชื่อม เช่น เหล็ก อินทรียวัตถุ คาร์บอเนต ซิลิก้า

2.ชั้นดานเปราะ เป็นชั้นดานที่มีความหนาแน่นสูงกว่าชั้นดินบนและล่าง ชั้นดานนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการอัดตัวของดินเหนียว ทรายแป้ง และทราย มีการเชื่อมยึดตัวแน่น เมื่อแห้งจะเปราะ เมื่อชื้นน้ำซึมผ่านได้ช้ามาก และมีปริมาณอินทรียวัตถุต่ำ พบในดินทั่วๆ ไป ชั้นดานเปราะ ประกอบด้วย ชั้นดินดานเหนียว ชั้นดานไถพรวน การแยกชั้นดานแข็งออกจากชั้นดานเปราะจะพิจารณาจากการละลายน้ำ ถ้าหากไม่ละลายน้ำ
จะเป็นชั้นดานแข็ง ถ้าละลายน้ำได้ จะเป็นชั้นดานเปราะ ชั้นดานเปราะมีข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์น้อยกว่าเนื่องจากละลายน้ำได้

ปัญหาของชั้นดานต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตพืช

ถ้าพบชั้นดานอยู่ตื้นกว่า 50 เซนติเมตร จะมีผลต่อการปลูกพืชเป็น
อย่างมาก บริเวณนี้ ควรปลูกสร้างสวนป่า หรือ
สงวนไว้เป็นต้นน้ำลำธาร แต่ถ้าจำเป็นต้องทำการเกษตรแล้ว ควรปลูกพืชไร่ที่มีรากสั้น หรือทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ถ้าจะปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น ต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินเฉพาะหลุม แต่ถ้าชั้นดานอยู่ระหว่างความลึก 50-100 เซนติเมตร จะมีผลต่อการปลูกพืชบ้าง แต่ไม่มากนัก สามารถปลูกพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น แต่ต้องมีการจัดการที่ดีด้วย ถ้าชั้นดานอยู่ลึกมากกว่า 100 เซนติเมตร ดินไม่มีข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น สามารถปลูกพืชต่างๆได้ อาจพบปัญหาเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย

วิธีการจัดการดินและปลูกพืชในพื้นที่ที่มีชั้นดาน

1. พื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ ได้แก่ พื้นที่
ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด

วิธีที่ 1 ใช้ไถลึก (Ripper) ไถเบิกดินดาน โดยใช้ระยะห่าง 50 เซนติเมตร

วิธีที่ 2 ปลูกหญ้าแฝก โดยปลูกเป็นแถวสลับกับแถวพืชหลัก

วิธีที่ 3 วิธีการผสมระหว่างการใช้ไถลึก และปลูกหญ้าแฝก คือ เริ่มด้วยการใช้ไถลึก ระยะห่าง 50 เซนติเมตร จากนั้นปลูกหญ้าแฝกสลับแถวพืช 5 หรือ 10 แถว ต่อหญ้าแฝก 1 แถว

วิธีการปลูกหญ้าแฝก

ให้ปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เป็นแถวตามแนวระดับ ขวางความลาดเทของพื้นที่ ภายหลังจากที่ไถเตรียมดินแล้ว โดยการขุดหลุมในร่องที่ไถไว้ สำหรับเป็นแนวระดับยาว ตามพื้นที่ให้แต่ละต้นห่างกัน 5 เซนติเมตร หญ้าแฝกแนวต่อไป ก็จะปลูกขนานกับแนวแรก โดยมีระยะห่างขึ้นกับสภาพความลาดชันของพื้นที่ เช่น ถ้าระยะตามแนวดิ่ง คือ 2 เมตร แนวรั้วหญ้าแฝก ที่ความลาดเอียง 5% 10% และ 15% จะอยู่ห่างกัน 40 เมตร 15 เมตร และ 10 เมตร ตามลำดับ ควรระมัดระวังในการไถเตรียมดิน โดยให้รักษาแนวหญ้าแฝกไว้ นอกจากนี้ควรตัดใบหญ้าแฝกให้อยู่ระดับ 30-50 เซนติเมตร และปลูกหญ้าแฝกซ่อมแซมให้หนาแน่นเป็นแนว

ข้อดีของการปลูกหญ้าแฝกนั้น ช่วยให้รากหญ้าแฝกจะชอนไชเข้าไปในชั้นดานและแทรกไปในชั้นดาน เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดินดานขึ้นมาในพื้นที่ นอกจากทำให้ผลผลิตสูงตลอดแล้ว ยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำลายชั้นดาน นะครับ

ข้อมูลจาก
- นาย  รัตวิ
- naewna.com

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา