พัฒนาข้าวหอมมะลิ รักษาตลาด ส่งออกข้าวหอมมะลิ


“ข้าวหอมมะลิ” ถือเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ทำรายได้ให้ชาวนาปีละ 105,400 ล้านบาท แต่ปัจจุบันข้าวหอมมะลิที่ผลิตได้มีคุณภาพลดน้อยลง และต้องมีการแข่งขันการส่งออกกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกัมพูชา และเวียดนาม และแนวโน้มของไทยอาจจะต้องประสบอุปสรรคด้านการส่งออก รวมทั้งราคาจะลดลง อันเนื่องมาจากการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งหมดก็จะกระทบชาวนาที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนบน ที่อาศัยการผลิตข้าวหอมมะลิได้เพียงฤดูเดียวเท่านั้น

เพื่อให้การผลิตข้าวหอมที่มีคุณภาพ และรักษาตลาดต่างประเทศ รวมทั้งคงเอกลักษณ์ของข้าวหอมไทยในตลาดคุณภาพและมีราคาที่สูงขึ้นแบบยั่งยืน จำเป็นต้องมีการพัฒนาการผลิตข้ามหอมมะลิตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้แก่การพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิ การใช้เทคโนโลยีการผลิต การเก็บเกี่ยว การสี การปรับปรุงคุณภาพ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมทั้งระบบการขนส่ง

ฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงได้แต่งตั้งคณะทำงาน โครงการพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสู่ตลาดแบบยั่งยืน โดยมี พล.อ.อ.วิโรจน์ นิสยันต์ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยบูรณาการงานเพื่อพัฒนาคุณภาพความหอมของข้าวหอมมะลิไทยตลอดห่วงโซ่การผลิตและการแปรรูป ให้คงความหอมตั้งแต่แปลงนาจนถึงจานของผู้บริโภค

ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำโครงการพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสู่ตลาดแบบยั่งยืน โดยในปี 2558/2559 จะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิของสมาชิกสหกรณ์ โดยจะคัดเลือกสมาชิกสหกรณ์จำนวน 5,000 ราย พื้นที่เป้าหมายไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ประกอบด้วย ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ และนครราชสีมา หรือพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเป็นพื้นที่นำร่อง

นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงการดำเนินโครงการดังกล่าวว่า จะมุ่งพัฒนากระบวนการ
ผลิตข้าวหอมมะลิ เพื่อยกระดับการรักษาคุณภาพความหอมในห่วงโซ่ข้าวหอมมะลิ ตั้งแต่การเลือกพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม ลดการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี เพิ่มสารอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารในดิน โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ การเก็บเกี่ยว การสี การปรับปรุงคุณภาพ การแปรรูปข้าวสารและผลิตภัณฑ์ข้าวต่างๆ ตลอดจนการขนส่ง ให้มีระยะเวลาหอมยาวนานขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการดึงความเป็นเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทยกลับคืนมา ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกด้วย

โครงการดังกล่าวจะเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวง กรม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สถาบันเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 20 แห่ง รวมถึงผู้ประกอบการผลิต ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภาพ เมล็ดพันธุ์ เป็นต้น โรงสีข้าว โรงปรับปรุงคุณภาพข้าวสารและโรงงานแปรรูปข้าวสุก เป็นการบูรณาการร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคข้าวหอมมะลิของไทยแท้ที่หอม นุ่ม และอร่อย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของข้าวหอมมะลิไทยที่ไม่มีข้าวประเทศอื่นสามารถลอกเลียนแบบได้

โครงการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการพัฒนาความหอมอร่อยของข้าวให้ยาวนานยิ่งขึ้น เพื่อดึงความเป็นเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทยกลับคืนมาแล้ว ก็ยังเป็นการช่วยยกระดับชาวนาไทยสู่ชาวนามืออาชีพ เน้นผลผลิตที่มีคุณภาพ และยังสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวนาจากราคาขายข้าวเปลือกที่สูงขึ้นตามคุณภาพความหอมอีกด้วย ซึ่งจากเดิมที่ขายได้ตันละ 15,000-16,000 บาท ก็จะเพิ่มเป็นตันละ 18,000-30,000บาท และได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 400 กก.ต่อไร่เป็น 500 กก.ต่อไร่ เมื่อทำการผลิตตามแนวทางที่กล่าวมาข้างต้น

ข้อมูลจาก naewna.com

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา