เร่งปรับโครงสร้างการผลิต ดันเกษตรแปลงใหญ่ทั่วประเทศ


ปัจจุบันปัญหาทางเศรษฐกิจ กลายเป็นปัญหาระดับโลกไปแล้ว ซึ่งหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศทั้งในอาเซียน และประชาคมโลกต่างก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน ประเทศไทยเองก็หนีไม่พ้น โดยได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าทางการเกษตร ทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำลง ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามที่จะยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้มีความมั่นคง และยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งแนวทางหนึ่งที่รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำมาใช้ในการปรับโครงสร้างการผลิต คือ การปรับกลไกบริหารจัดการสินค้าในระดับจังหวัดให้มีกลไกที่เป็นเอกภาพในการวางแผนบริหารจัดการสินค้า และระบบการส่งเสริมเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่ เพื่อสร้างความสมดุล ความต้องการสินค้า และปริมาณสินค้าที่ผลิตได้ภายในจังหวัด

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในเรื่องของการทำงานด้านการพัฒนาการเกษตรนั้น ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้ทำงานร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย และฝ่ายความมั่นคง โดยทุกฝ่ายเข้าใจถึงการทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้งที่ผ่านมา เรื่องของการปรับโครงการผลิตสินค้าเกษตรที่จะต้องดำเนินการวางรากฐานในอนาคต กระทรวงเกษตรฯ วางระบบการแก้ปัญหาภัยแล้ง และวางมาตรการแก้ปัญหาสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพียงอย่างเดียว โดยจากนี้ไปจะเข้าสู่ช่วงฤดูเพาะปลูก จึงต้องทำความเข้าใจ ที่จะต้องดำเนินการร่วมกัน ซึ่งเป็นภารกิจที่จังหวัดจะต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน โดยจะต้องมีขบวนการจัดการระดับจังหวัด ทั้งระบบ ขบวนการรับรู้ และกลไกการดำเนินงานร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย อย่างแนบแน่นในการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เกษตรกรต้องเดินเข้ามาหาเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเข้ามาในศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ซึ่งจะใช้วิธีการทำพื้นที่ใหญ่ๆ เช่น พื้นที่ปลูกข้าว ปลูกมันสำปะหลัง พื้นที่ปลูกอ้อย พื้นที่ทำเรื่องพืชสวนและพืชผักต่างๆ โดยกำหนดพื้นที่ให้มีความชัดเจน เป็นแปลงใหญ่ๆ โดยแต่ละแปลงจะมีผู้จัดการโครงการ มีฝ่ายต่างๆ เข้ามาร่วม ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการส่วนภูมิภาค ข้าราชการส่วนกลาง รวมพลังกันในการที่จะดำเนินการในพื้นที่ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่ามีกี่ไร่ กี่คน มีพื้นที่เท่าไหร่ เพื่อจะได้มีการวัดผลที่ชัดเจน และแปลงใหญ่นี้ถ้าได้ผลดีก็จะมีการขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ต่อไป

สำหรับการกำหนดพื้นที่แปลงใหญ่ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. เขตชลประทาน 2. เขตที่มีพื้นที่ชัดเจน เช่น เขตพื้นที่ ส.ป.ก. เขตสหกรณ์นิคม และ 3. เขตที่มีการเพาะปลูกหรือมีกิจกรรมทางการเกษตรเป็นพิเศษ เช่น พื้นที่ที่สามารถทำข้าวพิเศษต่างๆได้ พื้นที่ที่ปลูกผลไม้ พื้นที่ที่ปลูกยางพารา และพื้นที่ชายฝั่ง เป็นต้น ถ้าส่วนราชการในส่วนภูมิภาค หรือทางจังหวัด สามารถกำหนดพื้นที่ให้มีความชัดเจนได้ ช่วงปลายฤดูก็จะสามารถประเมินผลได้ว่าได้ทำอะไรกับภาคเกษตรไปได้บ้าง อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงการตลาดในต่างจังหวัดได้ เป็นการสร้างโอกาสให้เกษตรกรผู้ผลิตสามารถที่จะเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนด้วยตัวเอง

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด จะเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนขบวนการพัฒนาด้านการเกษตรให้ได้ เนื่องจากการพัฒนาด้านการเกษตรที่ผ่านมายังมีการทำงานที่ขาดการบูรณาการอย่างชัดเจน โดยเฉพาะข้อมูลด้านการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ตัวเลขที่มีการรายงานมายังส่วนกลาง และตัวเลขที่เป็นข้อเท็จจริงในพื้นที่หลายครั้งที่ยังไม่ตรงกัน จึงทำให้ยากต่อการวางแผน จากปัญหาที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการอย่างเร่งด่วน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ และฝ่ายความมั่นคงทำงานร่วมกัน ที่จะสร้างความรับรู้ให้กับเกษตรกรได้เข้าถึงข้อมูล เพราะการเข้าถึงข้อมูลจะนำไปสู่ความสำเร็จได้ ซึ่งจากนี้ไปข้าราชการของกระทรวงเกษตรฯในระดับพื้นที่จะต้องเข้าไปทำหน้าที่สร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรในแนวทางนโยบายในเรื่องการส่งเสริมสินค้าเกษตรแนวใหม่ซึ่งเป็นแปลงใหญ่ ที่จะวัดผลและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรในอนาคต โดยเจ้าหน้าที่จะต้องทำหน้าที่ในการเข้าไปสอบถามข้อมูลกับเกษตรกร และนำข้อมูลมานำเสนอต่อสาธารณชนผ่านโซเชียลเนตเวิร์ก เพื่อที่จะประมวลด้านข้อมูลในการนำสู่การประมวลผลและวางแผนนโยบายด้านการเกษตรที่ชัดเจน โดยเบื้องต้นในส่วนของเครือข่ายโซเชียลเนตเวิร์กของกระทรวงเกษตรฯ มีอยู่แล้วกว่า 5 แสนราย อาจจะมีการถ่ายคลิปของเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มและแสดงความต้องการด้านต่างๆมานำเสนอต่อกระทรวงเกษตรฯ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างเป็นระบบ” รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว

นายปีติพงศ์กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากการวางระบบการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ กระทรวงเกษตรฯยังจะมีการวางแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้เป็นระบบ ซึ่งจะต้องมีการวางแผนการใช้น้ำอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศไทย โดยจะต้องมีการจัดสรรน้ำจากเขื่อนต่างๆ ให้เป็นระบบ เพราะปัญหาเรื่องข้าวที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะมีการวางระบบที่ชัดเจนต่อไป

ข้อมูลจาก naewna.com/local/161139

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา