โพล ชี้ เกษตรกร ร้อยละ 73.6 อยากให้รัฐพิจารณา พักหนี้


โพล ชี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.6 อยากให้รัฐพิจารณาพักหนี้ ขณะที่ร้อยละ 69.5 ขอการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยและแก้ปัญหาราคาตกต่ำ และอยากให้แก้ปัญหาเรื่องการหาแหล่งน้ำ  

วันที่ 1 มิ.ย. 58 ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอ ผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง 1 ปีที่ผ่านไปกับการเปลี่ยนแปลงชีวิตเกษตรกรไทย : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ

รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผย ผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง 1 ปีที่ผ่านไป กับการเปลี่ยนแปลงชีวิตเกษตรกร : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,073 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการในวันที่ 29-31 พฤษภาคม 2558 ผลการสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 63.9 ระบุ ติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 20.1 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 5.9 ระบุ ติดตาม 1-2 วัน ต่อสัปดาห์ ร้อยละ 7.5 ระบุ น้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 2.6 ระบุไม่ได้ติดตามเลย คณะผู้วิจัยได้เริ่มต้นสอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระยะสั้นที่ คสช.และรัฐบาลได้ดำเนินการอยู่นั้น

ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนได้ระบุ มาตรการช่วยเหลือที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของเกษตรกรในจังหวัดของตน ได้อย่างเป็นรูปธรรม เรียงตามลำดับ ดังนี้ อันดับหนึ่ง ได้แก่ การพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย (ร้อยละ 73.6) รองลงมาคือ การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้เกษตรกร (ร้อยละ 69.5) การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ (ร้อยละ 66.1) การให้เงินช่วยเหลือค่าต้นทุนการผลิต ไร่ละ 1,000 บาท (ร้อยละ 65.1) การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรผ่านธนาคาร ธกส. (ร้อยละ 59.8 ) และการช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าวที่ตกค้าง (ร้อยละ 52.2) ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึง ความจำเป็นของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในระยะยาวที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ พบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 เห็นว่า ทุกมาตรการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการมีความจำเป็น สำหรับเกษตรกรในจังหวัดของตนทั้งสิ้น โดยเรียงตามลำดับได้ ดังนี้ การบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร แก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก (ร้อยละ 98.6 ระบุ จำเป็น) การส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ที่จำเป็นให้เกษตรกร (ร้อยละ 98.5 ระบุ จำเป็น) การจัดทำทะเบียนเกษตรกร แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร (ร้อยละ 96.8 ระบุ จำเป็น) มาตรการในการลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร (ร้อยละ 96.5 ระบุ จำเป็น) การส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ไร่นาสวนผสม (ร้อยละ 95.5 ระบุ จำเป็น) การส่งเสริมสหกรณ์สร้างชุมชนเข้มแข็ง สร้างตลาดชุมชนในท้องถิ่น (ร้อยละ 94.4 ระบุ จำเป็น) การจัดตั้งธนาคารปุ๋ย และศูนย์เมล็ดพันธุ์ในทุกชุมชน (ร้อยละ 91.5 ระบุ จำเป็น) และการจัดโซนนิ่งการเกษตร และการจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม (ร้อยละ 90.3 ระบุจำเป็น)

อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามต่อไปว่า ในแต่ละจังหวัดนั้นมีปัญหาของเกษตรกรปัญหาใดบ้าง ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือแก้ไขไม่สำเร็จ ผลการสำรวจ พบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 46.5 ระบุ ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร/ราคาข้าว ยางพารา ปาล์ม ตกต่ำ/ราคาสินค้าตกต่ำ ร้อยละ 30.4 ระบุ การขาดแหล่งน้ำในการทำการเกษตร/การจัดสรรแหล่งน้ำ/ไม่มีอ่างรองรับน้ำ/แก้ไขเรื่องแหล่งน้ำ ร้อยละ 14.8 ระบุ ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของประชาชน/อยากให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองเพราะค่าเช่าแพงมาก ร้อยละ 14.2 ระบุ เรื่องปากท้องของประชาชน/แก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร /หนี้นอกระบบ /การพักหนี้ของเกษตรกร/รายได้ของเกษตรกรตกต่ำ

ร้อยละ 13.5 ระบุ เรื่องเงินทุนในการทำการเกษตร/เงินทุนในการประกอบอาชีพ/กองทุนช่วยเหลือเกษตรกร/การลดต้นทุนการผลิต/ลดค่าปุ๋ยและอุปกรณ์ทางการเกษตร ร้อยละ 10.2 ระบุปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ภัยธรรมชาติ และ ร้อยละ 10.7 ระบุปัญหาอื่นๆ อาทิ การแนะนำ การอบรมความรู้เรื่องการเกษตรยังเข้าไม่ถึง/ประชาชนยังเข้าไม่ถึงเรื่องนโยบายของรัฐบาล อยากให้เข้ามาประชาสัมพันธ์ในพื้นที่/ การเอารัดเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลาง/ การประกันราคาพืชผลที่ไม่ชัดเจน/ประกันราคาผลผลิต/การรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรไม่คงที่/ ตลาดรองรับผลผลิตไม่เพียงพอ/การหาช่องทางทางการตลาดเพื่อกระจายผลผลิต และเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นต่อไป ว่า รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่ในการดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้เกษตรกรไทย

ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนเกือบร้อยละร้อย หรือร้อยละ 94.8 ระบุ คิดว่า รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 5.2 ที่ระบุ คิดว่า ยังไม่ถูกทาง โดยให้เหตุผลเพิ่มเติม ว่า การช่วยเหลือยังไม่ถึงมือเกษตรกรที่เดือดร้อนจริงๆ/เกษตรกรยังไม่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นโดยตรงถึงรัฐบาล/รัฐบาลต้องรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากเกษตรกรโดยตรง/นโยบายไม่ตรงกับความต้องการ เป็นต้น

ประเด็นสำคัญสุดท้าย เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 29.3 ระบุ เกษตรกรในจังหวัดของตนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 28.7 ระบุ ดีเหมือนเดิม ทั้งนี้ ร้อยละ 24.1 ระบุ เกษตรกรยังคงเดือดร้อนเหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 17.9 ระบุ เดือดร้อนมากกว่าเดิม

ข้อมูลจาก thairath.co.th/content/502382

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา