สวนพฤกษศาสตร์พรรณไม้ม่วงเฉลิม พระเกียรติ 60 พรรษา


สวนพฤกษศาสตร์พรรณไม้ม่วงเฉลิม พระเกียรติ 60 พรรษา ตั้งอยู่ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เป็นสวนที่ปลูกพรรณไม้ม่วงไว้มากมายหลายชนิด

สวนพฤกษศาสตร์พรรณไม้ม่วงเฉลิม พระเกียรติ 60 พรรษาตั้งอยู่ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เป็นสวนที่ปลูกพรรณไม้ม่วงไว้มากมายหลายชนิด

บริเวณพื้นที่พรุของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ขุดยกร่องปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน เช่น มะพร้าวน้ำหอม เงาะ มังคุด ทุเรียน แต่เนื่องจากให้ผลผลิตลดน้อยลงและไม่คุ้มต่อผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดทำสวนพฤกษศาสตร์พรรณไม้ม่วงเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา เพื่อร่วมเฉลิมพระ เกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2558


โดยรวบรวมพรรณไม้ต่าง ๆ ที่มีสีม่วง เพื่อสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และเพื่อเป็นจุดเรียนรู้ของเยาวชน นักศึกษา ประชาชน และผู้สนใจทั่วไป ให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ทั้งยังเป็นสวนเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจที่เต็มไปด้วยความรู้และความเพลิดเพลิน และเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ทรงเปิดป้ายสวนฯ และทรงปลูกต้นอินทนิล และทอดพระเนตรพรรณไม้ภายในสวน

นางสาวอุศนีย์ ธูปทอง ผู้อำนวยการ สำนักประสานงานโครงการพื้นที่ 4 สำนักงาน กปร. เปิดเผยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชดำเนินมาเปิดสวนนี้ แล้วเพาะเมล็ดพันธุ์พระราชทานและตอนนี้ก็ได้ต้นกล้าแล้ว ทางศูนย์ฯ ก็จะเอาไปเพาะชำแล้วเอาลงแปลง เป็นถั่วพันธุ์ฝักยาวสิรินธร 1 ซึ่งตอนนี้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้แล้วมากพอสมควร และจะขยายเมล็ดพันธุ์ต่อ จากนั้นก็จะแบ่งไปปลูกในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอื่น ๆ และพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป สำหรับในสวนแห่งนี้จะมีพันธ์ุพืชประมาณ 60 ชนิด และมีประโยชน์แทนตลอดถึงคุณลักษณะที่แตกต่างกันไป เช่น พืชอาหาร พืชไม้ร่ม ไม้เงาต่างระดับ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการอธิบายถึงคุณลักษณะและประโยชน์ของแต่ละพันธ์ุไม้ไว้ให้ได้เรียนรู้อีกด้วย เช่น มีคุณสมบัติอย่างไร สรรพคุณอย่างไร ฤดูกาลที่เจริญเติบโตได้ดี การเก็บเกี่ยวผลผลิต ผู้เข้าชมจะได้รับความรู้ในส่วนนี้อีกด้วย ซึ่งทางเลขาธิการ กปร. ได้ให้แนวทางว่าให้ทุกศูนย์ศึกษาการพัฒนาทั่วประเทศจัดทำสวนพันธ์ุไม้ม่วงขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ขยายพันุธ์ และการศึกษาเรียนรู้ของเยาวชน และประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย


สำหรับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ สวนนี้มีเนื้อที่ 12 ไร่ มีการออกแบบเพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่เป็น 2 ส่วน คือพื้นที่ดอนมีจำนวน 6 ไร่ และพื้นที่น้ำอีก 6 ไร่ ซึ่งมีการจัดตกแต่งสวนด้วยการปลูกไม้นานาพรรณเพื่อความสวยงามโดยมุ่งเน้นพันธุ์ไม้ที่เป็น ดอก ใบ ผล และหัว มีสีม่วง และได้จำแนกระดับชั้นพรรณไม้ที่ปลูกเป็น 6 ระดับ คือ ระดับที่ 1 ปลูกไม้ยืนต้นทรงสูง เช่น กระพี้จั่น แซะ ตะแบก พญาไม้ อินทนิลน้ำ ฯลฯ ระดับที่ 2 ปลูกไม้ยืนต้นขนาดกลาง เช่น ชำมะเลียง กัลปพฤกษ์ ชงโค ชมพูพันธุ์ทิพย์ ตะลิงปลิง เพกา มะม่วงแก้ว ศรีตรัง เสลา ระดับที่ 3 ปลูกต้นไม้พุ่ม เช่น กล้วยบัว กะเพราแดง กะหล่ำปลีม่วง ข้าวโพดสีม่วง เข็มม่วง คราม ต้อยติ่งฝรั่ง ผักบุ้งต้น ผักสลัด ผีเสื้อแสนสวย มะเขือม่วง รักยี่โถปีนัง สันพร้าหอม สาวสันทราย หญ้าเนเปียร์ หญ้าหนูต้น หญ้าฮี้ยุ่ม โท๊ะ ฯลฯ ระดับที่ 4 ปลูกไม้เลื้อยและพืชคลุมดิน เช่น พวงคราม อัญชัน ว่านกาบหอย หัวใจม่วง ถั่วพู ฯลฯ ระดับที่ 5 ปลูกพืชหัว เช่น มันเทศ และระดับที่ 6 พืชน้ำ เช่น คล้าน้ำ บัวผัน บัวสาย ผักตบชวา ฯลฯ

ซึ่งต้นไม้แต่ละชนิดได้จัดทำป้ายสื่อความหมายเกี่ยวกับต้นไม้ตามหลักวิชาการโดยได้ระบุชื่อชนิด ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อวงศ์ และชื่อพื้นเมือง พร้อมคำบรรยายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ การขยายพันธุ์ การใช้ประโยชน์ และสรรพคุณทางสมุนไพรจากส่วนต่าง ๆ ของพืชโดยย่อพร้อมภาพสีประกอบ

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้มาเที่ยวชมได้รู้จักและเห็นคุณค่าของต้นไม้ อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และปลูกฝังให้เยาวชนเกิดความรู้และหวงแหนมรดกทางธรรมชาติ เพื่อจะได้ร่วมมือกันอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรทางธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนสืบไป.“

ข้อมูลจาก
dailynews.co.th/agriculture/327776

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา