พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร ระหว่าง 22 มิถุนายน 2558 - 28 มิถุนายน 2558

ภาคเหนือ

       ในช่วงวันที่ 22-23 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
- สัปดาห์นี้ แม้จะมีฝนตก แต่บางพื้นที่ยังมีฝนตกน้อย เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะลำไยที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล หากขาดน้ำจะทำให้ผลผลิตด้อยคุณภาพ รวมทั้งระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกปากดูด โดยเฉพาะมวนลำไยที่จะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ผลลำไยแห้ง และร่วงหล่น
- สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร รวมทั้งวางแผนการจัดการน้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำใช้ในระยะที่มีฝนตกน้อย หรือฝนทิ้งช่วง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

       ในช่วงวันที่ 22-24 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
- สัปดาห์นี้จะมีฝนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทางตะวันออกของภาค ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่ายโดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบอาจป่วยเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยได้
- ส่วนทางด้านตะวันตกมีฝนน้อยเกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ และพืชผัก ควรระวังป้องกันการระบาดศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ที่จะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
- สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย

ภาคกลาง

       ในช่วงวันที่ 22-24 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 25-28 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
- สัปดาห์นี้จะมีฝนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค เกษตรกรที่ปลูกข้าวไปแล้วควรระวังการระบาดของโรคไหม้ รวมทั้งการระบาดของหนอนชนิดต่าง เช่น หนอนกอ และหนอนห่อใบข้าว เป็นต้น
- ส่วนทางตอนบนของภาคอากาศร้อน และบางวันมีฝนตก ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกป้องกันสัตว์อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ

ภาคตะวันออก

       ในช่วงวันที่ 22-23 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
- สัปดาห์นี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนไม้ผลและสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
- สำหรับไม้ผลอยู่ในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรควรเก็บกวาดผลที่เน่าเสียและร่วงหล่น ตลอดจนเปลือกผลไม้ไปกำจัด ไม่ควรปล่อยให้อยู่ภายในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืชโดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
- อนึ่ง ในช่วงวันที่ 24-28 มิ.ย. บริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็ก ควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

       ในช่วงวันที่ 22-23 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
- ส่วนทางฝั่งตะวันออกบริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร และวางแผนการจัดการน้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
- ช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน ชาวสวนยางพารา และไม้ผล ควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
- อนึ่ง ในช่วงวันที่ 24-28 มิ.ย. บริเวณอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

       ในช่วงวันที่ 22-23 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณทะเลอันดามันตอนบนคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส
- สัปดาห์นี้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งขุดลอกคูคลองอย่าให้ตื้นเขิน น้ำไหลได้สะดวก เพื่อป้องกันน้ำขังเมื่อมีฝนตกหนัก
- ช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน ชาวสวนยางพารา และไม้ผล ควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
- อนึ่ง ในช่วงวันที่ 24-28 มิ.ย. บริเวณอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา