ข่า ผักสวนครัว ปลูกเล่นๆ ทำเงินเป็น 10 ปี


“ข่า” ปลูกครั้งเดียว สามารถให้ผลผลิตได้ยาวนานต่อเนื่องถึง 10 ปี ข่าที่ปลูกกันที่บ้านท่านา ตำบลทุ่งน้อย อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร จะเป็นพันธุ์ “ข่าใหญ่” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ข่าแดง” ซึ่งเป็นข่าพื้นบ้าน เป็นพันธุ์ที่ปลูกง่าย แตกหน่อดี ให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี มีปลูกกันตามบ้านอยู่แล้ว แต่ต่อมามีความต้องการจากตลาด จึงเริ่มมีการปลูกไว้ตามหลังบ้าน ตามที่ว่างในสวนกันมากขึ้น จนตลาดมีความต้องการมากขึ้นแล้วราคาในการรับซื้อก็สูงขึ้นเรื่อยๆ

คุณทิวา อาสว่าง ผู้ใหญ่บ้านหญิงคนเก่ง ของหมู่ที่ 2 บ้านท่านา ตำบลทุ่งน้อย อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร โทร. (089) 563-7084 เป็นผู้นำเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกข่า โดยตั้งชื่อกลุ่ม “ข่าอินเตอร์”

ผู้ใหญ่ทิวา อธิบายว่า ชื่อ “ข่าอินเตอร์” เพราะข่าที่นี่ทำแบบปลอดสารพิษ แล้วสามารถส่งออกไปขายถึงประเทศอินโดนีเซียโดยผ่านผู้ส่งออก นอกจากจะขายตลาดในประเทศแล้ว ผู้ใหญ่ทิวาเล่าว่า ตอนนี้ที่กลุ่มมีสมาชิกราว 50 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข่ารวมกันราว 100 ไร่ได้ และมีแนวโน้มจะเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้น เพราะกำลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ กำลังมาแรง ตลาดตอบรับดีและมีอย่างต่อเนื่อง

ผู้ใหญ่ทิวา เล่าต่อว่า ตอนนี้ราคาข่าดีมาก ราคารับซื้อดีมาอย่างต่อเนื่อง 2-3 ปี พ่อค้าเข้ามารับซื้ออย่างต่อเนื่องและดูจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นด้วย ข่าของที่นี่เริ่มมีชื่อเสียง ทำข่าแบบปลอดสารพิษ ผ่านการรับรอง ได้สัญลักษณ์ ตัว Q จากกรมวิชาการเกษตร ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก

ตลาดที่เข้ามารับซื้อหลักๆ คือ จากตลาดไท สี่มุมเมือง และตลาดส่งออกไปอินโดนีเซีย ราคาซื้อขายข่ามีขึ้นลงบ้าง แต่หลายปีที่ผ่านมาราคาดีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรหรือเพื่อนเกษตรกรหันมาปลูกข่ากันมากขึ้น เพราะมั่นใจในรายได้หลักแสนบาท ต่อไร่ ต่อปี หรือมากกว่านั้น เพราะข่า

สามารถขุดได้ทุกวันทั้งปี มีรายได้ทุกวันไม่เหมือนพืชอย่างอื่น เพียงเกษตรกรเอาใจใส่บ้างในเรื่องของการดูแล เช่น ใส่ปุ๋ยคอก ใส่ขี้เถ้าแกลบดำ หรือฟางข้าวและการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ

ตอนนี้ราคาซื้อขายข่าอ่อน อยู่ที่กิโลกรัมละ 37-40 บาท เลยทีเดียว (ราคาเดือนเมษายน พ.ศ. 2557) ส่วนข่าแก่ที่จะมีบ้าง ราคาราว 20 บาท ต่อกิโลกรัม การขุดข่า ได้ข่า จำนวน 100 กิโลกรัม เฉลี่ยจะได้ข่าอ่อนมาก 80-90 กิโลกรัม ส่วนข่าแก่ก็จะมีเพียง 10-20 กิโลกรัม เท่านั้น ข่าแก่จะมีน้อย เพราะข่าจะขุดออกจากกออย่างสม่ำเสมอ เกษตรกรจะขุดเกือบแทบทุกวัน ทำให้ข่าแก่มีน้อย

ซึ่งหลายสิบครัวเรือนได้หันมาปลูกข่าเพียงอย่างเดียวแทนการทำนาข้าว หรือแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรเดิม เช่น สวนมะนาว มาปลูกข่ากันมากขึ้น เพราะตลาดรับซื้อดี มีความต้องการตลอดทั้งปี มีการบริหารจัดการสวนไม่ยุ่งยากมากนัก เป็นพืชที่ให้ผลผลิตเร็ว หลังปลูกเพียง 7-8 เดือนเท่านั้น แล้วก็สามารถขุดขายได้ทุกๆ วัน หรือตามออเดอร์ที่พ่อค้าสั่งมา ข่าปลูกเพียงแค่ครั้งเดียวแล้วเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวได้นานนับ 10 ปี โดยไม่ต้องคอยปลูกใหม่ทุกๆ ปี เหมือนพืชชนิดอื่น

การเตรียมดิน ข่าเป็นพืชที่ชอบดินร่วนซุย ชอบดินชื้น แต่ไม่ชอบน้ำแฉะและน้ำขัง หากพื้นที่ไหนมีน้ำขังก็คงเป็นเรื่องยากสักหน่อย เพราะจะทำให้ข่าเน่าง่ายหรืออาจจะแก้ไขด้วยการไถเปิดหน้าดินก่อนขึ้นเป็นร่องลูกฟูกยกสูงขึ้นมาเหมือนแปลงปลูกผักเพื่อระบายน้ำดีแต่หากเป็นพื้นที่ราบปกติ ก็สามารถไถดะแล้วไถแปร ไถเปิดหน้าดินอย่างน้อย 50 เซนติเมตร แล้วคลุกกับปุ๋ยคอกเก่าหรือปุ๋ยหมักเพื่อเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน

การเตรียมต้นพันธุ์ข่าสำหรับปลูก ข่าเป็นพืชที่ปลูกง่ายก็จริง แต่หากท่านใดมีโอกาสก็อยากจะแนะนำต้นพันธุ์ที่มาจากต้นแม่ที่มีอายุได้ 8-9 เดือน ขึ้นไป เพราะมีตามากและรากงอกใหม่ได้ง่าย เพียงแต่แยกแง่ง ตัดใบ ตัดราก ออกให้หมด แล้วล้างให้สะอาดก็เป็นอันใช้ได้ แต่หากท่านไม่สามารถหาต้นพันธุ์ได้นั้นก็หาซื้อตามตลาด โดยคัดเลือกหัวหรือแง่งที่มีตาตามข้อ ตัดแต่งส่วนที่เน่าหรือช้ำออก เพราะจะทำให้ลุกลามในภายหลังได้ และเมื่อเสร็จแล้วก็นำไปแช่ในน้ำยากันเชื้อรา

หลังจากนั้นก็นำไปเพาะชำในแกลบดำหรือวัสดุปลูกชนิดอ่อน เช่น แกลบดำ หรือขุยมะพร้าว แล้วรดน้ำให้ชุ่ม เป็นเวลา 10-15 วัน เพื่อรอให้รากงอกและแทงยอดออกมาใหม่ หรือหากท่านใดนิยมการปลูกแบบบ้านๆ ก็ไม่ต้องพิถีพิถันอะไรมากก็สามารถปักลงดินแล้วรดน้ำได้เลย แต่ถ้าหากอยากให้อัตราการรอดสูงก็อาจจะต้องพึ่งพาการอนุบาลเสียเล็กน้อย
แต่การปลูกข่าของเกษตรกรที่บ้านท่านาตำบลทุ่งน้อยนั้น จะใช้วิธีซื้อพันธุ์แบบยกกอที่ปลูกเอาไว้หลังบ้านหรือชาวบ้าน  เรียกว่า “ข่าดิน” คือข่าที่ปลูกกับดินมา ไม่ใช่ข่าที่ปลูกในขี้เถ้าแกลบแบบนี้ หรือซื้อพันธุ์จากชาวบ้าน ซื้อเหมายกกอเลย แล้วมาตัดใบ ตัดให้สูงสัก 30 เซนติเมตร จะไม่ใช้พันธุ์ที่ปลูกกันในแปลง เพราะหน่อข่าที่ได้มักจะไม่แข็งแรง มันเป็นข่าอ่อน เพราะข่าจากแปลงปลูกเชิงการค้านั้น เป็นข่าที่ได้รับการดูแลใส่ปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่อข่าไม่แกร่ง ไม่แข็งแรง เมื่อนำไปขยายพันธุ์ปลูกต่อจะเหี่ยวตายในแปลงเสียหมด

การปลูกข่านั้นก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก ขุดหลุมให้ลึก ประมาณ 1 หน้าจอบ ไม่ต้องขุดลึกมากนัก เพราะจะทำให้ขุดยากและทำให้ต้นเน่าง่ายหากควบคุมการให้น้ำไม่ดี แล้วอาจจะรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า (หลีกเลี่ยงการใช้มูลวัวอย่างต่อเนื่อง เพราะง่ายต่อการแพร่ของหนอนกอ) ตอนปลูกให้ตาของหน่อข่าชี้ขึ้นด้านบน โดยทิ้งระยะห่างระหว่างกอ ที่ 50x50 เซนติเมตร ใน 1 ไร่ จะปลูกข่าได้ จำนวน 6,400 หลุม (กอ) แต่ถ้าปลูกจำนวนมากเกษตรกรก็จะไถเป็นร่องเหมือนร่องมันสำปะหลังแล้ววางเหง้าข่าและใช้จอบเกลี่ยดินมากลบตาม

หลังจากปลูกแล้วควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอโดยสังเกตจากดินว่าควรมีความชุ่มชื้นอย่างเพียงพอของการเจริญเติบโตในช่วง 1 เดือนแรก เมื่อเห็นว่าต้นข่าตั้งตัวได้แล้ว เกษตรกรควรจะมีการคุมโคนกอข่าด้วยแกลบดำ เพราะแกลบดำจะช่วยรักษาความชุ่มชื้น ช่วยในการบังแสงแดดและอบให้แง่งข่า หน่อข่าขาวสวย มีสีแดงสวย เป็นที่ต้องการของตลาด แกลบดำมีส่วนสำคัญมากในการปลูกข่าแดง ทำไมไม่คลุมแกลบดำในช่วงแรกของการปลูกข่า เพราะแกลบดำจะอมความร้อนมากเกินไป ทำให้หน่อข่าหรือกอข่าร้อนจนเกินไป แล้วคลุมด้วยฟางหรือวัสดุที่เหลือใช้ในท้องถิ่น เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำ แต่ถ้าจะให้แนะนำก็อยากจะให้หาวัสดุคลุมให้เรียบร้อยเพื่อรักษาความชื้นในดิน และถึงแม้จะดูยุ่งยากในช่วงแรกแต่ก็เป็นผลดีในระยะยาว

จากนั้นก็เป็นการลงต้นพันธุ์ โดยปลูกหลุมละ 3-5 ต้น (ต้นยิ่งมาก ยิ่งได้กอใหญ่และโตเร็ว) เมื่อปลูกต้นพันธุ์ลงไปเรียบร้อยก็กลบดินแค่พอปิดหน่อข่า ไม่ต้องปลูกลึกมาก เพราะจะทำให้เวลาขุดข่าขายจะขุดยาก

ขั้นตอนในการดูแลรักษา การให้น้ำ ก็ไม่ยุ่งยากมาก ถ้าเป็นในหน้าฝน การให้น้ำก็ไม่จำเป็นต้องให้ก็ได้ แต่เกษตรกรต้องคอยดูแลแปลงไม่ให้น้ำขังแฉะ ถ้าเป็นที่ลุ่มก็ต้องยกแปลงปลูกให้สูง ในช่วงของการเตรียมแปลงแล้ว ถ้าเป็นหน้าฝนก็ต้องมีทางระบายน้ำเวลาฝนตกต่อเนื่องไม่ให้น้ำขังแฉะ ส่วนถ้าเป็นในหน้าแล้งก็จะให้น้ำ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ตามความเหมาะสมของสภาพอากาศและสภาพดิน เกษตรกรต้องสังเกตเอาเอง ไม่มีหลักเกณฑ์


การให้น้ำในแปลงปลูกข่านั้น ส่วนมากเกษตรกรก็จะใช้วิธีการสูบปล่อยน้ำลงในแปลงปลูกให้ทั่วและต้องให้ดินชุ่ม และมีเกษตรกรบางรายเริ่มมีการใช้ระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์เข้ามาใช้เพื่อความสะดวก และสามารถเพิ่มความชื้นให้กับข่าได้อย่างรวดเร็ว อย่างที่บอก “ข่า เป็นพืชชอบแดด ชอบความชื้น แต่ไม่ชอบน้ำขังแฉะ”

การใส่ปุ๋ยนั้น เกษตรกรที่นี่จะเน้นการใช้ปุ๋ยคอกอัดเม็ดที่มีขายอยู่ทั่วไป เช่น ปุ๋ยขี้วัว ขี้ไก่ เป็นต้น เพราะสามารถใช้ได้สะดวก โดยจะใส่ตั้งแต่รองก้นหลุมแล้วใส่ทุกครั้งที่ขุดข่า ก็จะใช้ปุ๋ยคอกอย่างสม่ำเสมอตามความเหมาะสมและอาจจะผสมกันเป็นปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) บ้าง เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตบ้างในบางช่วงที่สังเกตเห็นว่าข่าไม่ค่อยงาม ใส่ปุ๋ยคอกทุกครั้งหลังที่ขุดข่าออกจากกอ หรือจะเสริมด้วยปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลของแต่ละคน เพราะข่ายิ่งดูแลดี ก็จะเจริญเติบโตเร็ว หน่อใหญ่ ขุดขายได้เร็ว

ขั้นตอนการขุดข่าขาย ผู้ใหญ่ทิวา อธิบายว่า เมื่อปลูกข่าได้ราว 7-8 เดือน เกษตรกรก็จะเริ่มขุดข่าขายได้ครั้งแรก การขุดข่านั้นเกษตรกรจะขุดกันช่วงเช้าๆ แล้วจะทำให้เสร็จในช่วงสายๆ หรือช่วงเที่ยงของวัน เพราะการขุดข่าถ้าขุดในช่วงสายหรือบ่ายแดดร้อน จะทำให้ข่าสีไม่สวย สีจะเขียวออกดำ ต้องขุดข่ากันในช่วงเช้าเท่านั้น ใช้มีดตัดใบข่าที่ต้องการขุดทิ้งเสียก่อน เพราะเพื่อให้ง่ายต่อการขุด โดยการขุดจะไม่ขุดหมดทั้งกอ โดยจะต้องเหลือต้นข่าเอาไว้อย่างน้อย 5 ต้น (หรือมากกว่านั้น) เพื่อเอาไว้เป็นส่วนเจริญขยายพันธุ์ต่อไป จากนั้นก็จะใช้จอบขุดรอบๆ กอข่า (ระวัง อย่าให้ขุดโดนหน่อข่าเสียหาย)

การขุดข่า จะขุดง่ายมาก เพราะดินมีแกลบดำอยู่พอสมควรและไม่ได้ปลูกลึกมากนัก ทำให้การขุดข่าได้ง่าย คนขุดจะขุดแล้วเคาะหรือเขย่าเหง้าข่าเล็กน้อย ดินก็จะหลุดออกจากราก แล้วรวบรวมให้อีกคนตัดแต่งรากเบื้องต้นออก และแยกข่าอ่อนกับข่าแก่ออกจากกัน เมื่อรวบรวมข่าได้ตามที่ต้องการก็จะขนย้ายข่าไปล้างต่อ เพื่อทำความสะอาดด้วยเครื่องฉีดน้ำ ซึ่งเครื่องฉีดน้ำนี้สามารถล้างข่าได้รวดเร็วและสะอาด

 จากนั้นก็นำมาตัดแต่งรากให้สะอาดในรอบสุดท้ายก่อนนำไปแช่น้ำสารส้มสัก30 นาที แล้วนำขึ้นมาพักไว้ให้สะเด็ดน้ำ ก่อนนำไปบรรจุถุง รอพ่อค้ามารับสินค้าในช่วงบ่ายหรือช่วงเย็น

การใช้ “สารส้ม” มีความสำคัญ ตอนนี้มีตลาดเข้ามาติดต่อมาก เพราะเราทำปลอดสารพิษได้ ตลาดเลยกว้างมาก คือตลาดข่าสมัยก่อนมีปัญหาเรื่องการใช้น้ำยาแช่ข่า ซึ่งคาดว่าเป็นน้ำยาฟอร์มาลิน ทำให้ข่าสดอยู่ได้หลายวัน เกษตรกรทำลายตัวเอง แต่ตอนนี้ก็ต้องเลิกการใช้น้ำยา หันมาทำเหมือนกลุ่มเรา ผู้ใหญ่ทิวา อธิบายว่า กลุ่มข่าอินเตอร์ของเราจะใช้การแช่น้ำสารส้ม เพื่อให้ข่าสด เป็นการใช้วิธีแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำให้ข่าปลอดภัย ตรวจสารพิษไม่มี ตลาดชอบ และทำให้ข่าของที่นี่มีชื่อเสียง


ส่วนหนึ่งของขั้นตอนสุดท้ายก่อนการบรรจุลงถุงใส (บรรจุ 5 กิโลกรัม) เมื่อเกษตรกรล้าง และแต่งรากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะมาถึงขั้นตอนที่จะทำให้หน่อข่าอ่อนคงความสด วางตลาดได้นาน 4-5 วัน คือการแช่น้ำสารส้ม วิธีการใช้สารส้ม เกษตรกรจะกะการใช้ เช่น น้ำสะอาด 1 โอ่ง หรือ น้ำสะอาดใน 1 ถัง 100 ลิตร จะใช้ก้อนสารส้ม ประมาณ 1 ก้อน (เท่าขนาดไข่ไก่) โดยเกษตรกรเมื่อรู้ว่าจะออกไปขุดข่าตอนเช้า ก็จะเตรียมน้ำสะอาดใส่ถังหรือใส่โอ่งเอาไว้ จากนั้นจะโยนก้อนสารส้มลงไปในถังน้ำ เมื่อกว่าเกษตรกรจะขุดเสร็จ ล้างและตัดแต่งรากจนสะอาด แล้วนำข่ามาแช่น้ำ ก้อนสารส้มก็จะละลายหมดก้อนพอดี ไม่ต้องเสียเวลามานั่งแกว่งสารส้มจนละลายแต่อย่างใด น้ำสารส้มจะทำหน้าที่ทำให้ข่าอ่อนคงความสด ได้หลายวัน

การปฏิบัติหลังการขุดข่า ทุกครั้งที่เกษตรกรขุดข่าสิ่งที่จะต้องปฏิบัติควบคู่กันไปทุกครั้งหลังการขุดข่าเสร็จสิ้นก็คือ การกลบฝังหลุมที่เกษตรกรขุดข่าออกไป โดยกรณีเป็นแปลงปลูกใหม่ก็จะใช้ขี้เถ้าแกลบดำในการกลบหลุมใส่แกลบดำให้พูนเป็นหลังเต่าทั่วทั้งกอข่า โดยเหตุผลหลักคือเป็นการเติมวัสดุปลูก แล้วขี้เถ้าแกลบดำ จะช่วยให้ข่ามีสีแดงสวย ส่วนที่เป็นสีขาวก็ขาวสะอาดเป็นที่ต้องการของตลาด และขี้เถ้าแกลบดำทำให้การขุดข่าเป็นไปอย่างง่ายดายไม่เปลืองแรง

การปฏิบัติแบบนี้จะทำทุกครั้งหลังการขุด แต่แปลงที่ปลูกมานานพอสมควร ขี้เถ้าแกลบดำในแปลงปลูกจะมีค่อนข้างเยอะพอสมควร เกษตรกรก็จะสามารถขุดเอาขี้เถ้าแกลบดำในแปลงมากลบหลุมปลูกได้ทันทีโดยไม่ต้องใส่ขี้เถ้าแกลบใหม่ โดยอาจจะใส่เว้นช่วงได้ถ้าเห็นว่าน้อย ก็ค่อยเติมขี้เถ้าแกลบดำเพิ่ม โดยขี้เถ้าแกลบดำจะเป็นวัสดุหลักที่เกษตรกรที่ปลูกข่าจะต้องใช้กันอย่างต่อเนื่อง ราคาขี้เถ้าแกลบตอนนี้คันรถสิบล้อ ราคาราว 5,000 บาท ทีเดียว โดยมีเกษตรกรเริ่มหาวัสดุมาทดแทนการใช้ขี้เถ้าแกลบดำลงเพื่อมาคลุมโคนกอข่า นั้นก็คือ ฟางข้าว ที่ได้จากที่นาของตัวเอง ผลการใช้ฟางข้าวในการคลุมโคนกอข่านั้น ผลที่ได้ข่าก็ยังคงขาวสวยเช่นกัน อีกเคล็ดลับหนึ่ง หลังการขุดข่าเสร็จเกษตรกรก็ต้องใช้มีดตัดใบต้นข่าออกบ้าง เพราะจะช่วยให้ต้นข่าไม่หักล้มจากลม

ข้อมูลจาก matichon.co.th

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา