เสียบกิ่งมะนาวด้วยหลอดกาแฟ


ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่แล้ว ไปสำรวจเส้นทางที่สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทยจะจัดโครงการเกษตรทัศนศึกษาไปยังพื้นที่ปลูกทุกเรียนพันธุ์ดัง "หลง-หลินลับแล" ที่เมืองแม่ม่าย อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เพื่อไปชิมและซื้อทุเรียนพันธุ์อร่อยถึงแหล่งผลิต หรือจะซื้อกิ่งพันธุ์ถึงแปลงขยายพันธุ์ของเกษตรกรในราคาที่ถูกกว่ากรุงเทพฯ หลายเท่าตัว

การเดินทางไปสำรวจในครั้งนี้เราเริ่มจาก จ.พิจิตรแหล่งกำเนิดมะนาวแป้นชื่อดัง "พิจิตร 1" ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ที่นั่นมีอะไรดีๆ เยอะมากที่น่าศึกษา โดยเฉพาะการตัดแต่งกิ่งมะนาว การปลูกมะนาวระยะชิด การบังคับมะนาวให้ออกผลนอกฤดูด้วยเทคโนโลยีใหม่ เป็นต้น

ในโอกาสนี้เราได้แวะที่ "สวนบ้านพันธุ์ไม้" ของปราชญ์ชาวบ้านด้านมะนาว "วัง  สุขประเสริฐ" ที่ อ.เมือง จ.พิจิตร ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการขยายพันธุ์มะนาวคนหนึ่งในประเทศไทยก็ว่าได้ ที่นี่มีการขยายพันธุ์มะนาวหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่จะเน้นแป้นแม่ลูกดก เพราะเป็นมะนาวที่ออกผลผลิตดกทั้งปี ผลโต เปลือกบาง น้ำเยอะและหอมด้วย

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือการขยายพันธุ์มะนาวด้วยวิธีการเสียบยอด ซึ่งปกติกเรามักจะพบว่า วิธีการเสียบยอดนั้นมักจะใช้เชือกพลาสติกมาพันช่วงที่เสียบยอด แต่ที่นี่ใช้หลอดกาแฟครับ ทำให้การเสียบยอดเร็วมาก เพราะไม่ต้องเสียเวลามาพันลำต้น

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เป็นนักข่าวเห็นมากับตาต้องเผยแพร่บ้าง เผื่อเกษตรกรท่านอื่น หรือผู้ที่สนใจในการเสียบยอดมะนาว หรือต้นไม้จะได้นำไปปฏิบัติด้วย

วิธีการง่ายครับ เพียงแต่สังเกตขนาดของต้นตอที่เราจะเสียบยอด ที่สวนบ้านพันธุ์ไม้ อาจารย์วังจะใช้มะนาวพื้นเมือง ที่มีความทนต่อโรคและหาอาหารเก่งมาเป็นต้อตอ จากนั้นไปซื้อหลอดกาแฟที่มีขนาดเท่ากันหรือใกล้เคียงกับต้นตอ เมื่อได้มาแล้วก็จัดการเสียบยอดได้เลย

เริ่มจากการนำต้นตอที่มีอายุ 6-8 เดือน กะความสูงจากโคนต้นราว 5-6 นิ้ว แล้วตัดยอดออก เอามีดผ่ากลางเป็นปากฉลามลึก 1 นิ้ว แล้วเอาหลอดกาแฟตัดขนาดยาว 1.2 นิ้มสวมไว้ จากนั้นนำกิ่งยอดมะนาวพันธุ์ดีที่เตรียมไว้ที่จะเสียบมาปาดกิ่งที่ตัดทั้ง 2 ด้าน ให้เป็นปลายแหลมยาว 1 นิ้วเช่นกัน

เมื่อเสร็จแล้วนำยอดพันธุ์เสียบลงในปากฉลามให้เปลือกของต้นตอกับเปลือกของยอดพันธุ์ติดกัน ดึงหลอดกาแฟมาหุ้มแทนการพันด้วยเชือกพลาสติก เมื่อได้ 20 ต้น นำเข้าถุงอบ ที่เป็นถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ปิดปากถุงให้แน่น เก็บไว้ในร่ม พอครบ 1 เดือนออกมาไว้ในโรงเรือนเพื่อจำหน่ายหรือลงหลุมปลูกต่อไป

ข้อมูลจาก komchadluek.net

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา