มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง กับที่มาพันธุ์หวานอร่อย


มะม่วงชนิดนี้ เกิดจากการเอาเมล็ดของ มะม่วงน้ำดอกไม้พระประแดง เพาะเป็นต้นกล้าแล้วปลูกเลี้ยงจนต้นโตมีดอกและติดผล ปรากฏว่า มีความแปลกจากพันธุ์ดั้งเดิมคือ ขณะผลยังอ่อนได้ 1-2 เดือน สีผลจะเป็นสีเขียว แต่พ้น 1-2 เดือนไปแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนตลอดทั้งผล และจะเป็นเช่นนี้ไปจนกระทั่งผลแก่หรือสุกสีเหลืองจะเข้มขึ้น ทำให้เวลาติดผลดกทั้งต้นดูสวยงามมาก เนื้อสุกรสชาติหวานหอม เมล็ดบางเสี้ยนน้อย รับประทานอร่อยมาก

ที่สำคัญ สามารถติดผลดกได้ตลอดทั้งปี หรือนิยมเรียกว่าทวายนั่นเอง เจ้าของผู้เพาะเมล็ดคือ พ.อ.อ.สมาน เอมอ่อง เชื่อว่าเป็นมะม่วงกลายพันธุ์ จึงปลูกทดสอบพันธุ์อยู่หลายวิธีและหลายครั้งจนมั่นใจว่าเป็นพันธุ์ใหม่อย่างถาวรแน่นอนแล้ว จึงตั้งชื่อว่า “มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” พร้อมจดลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย และขยายพันธุ์ออกวางขายได้รับความนิยมจากผู้ซื้อไปปลูกอย่างแพร่หลายและต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับมะม่วงทั่วไปทุกอย่าง “ผล” เป็นรูปกลมรีและยาว ทรงผลสวย เมื่อโตเต็มที่แต่ละผลจะมีน้ำหนักเฉลี่ยระหว่าง 300-400 กรัม ติดผลดกเป็นพวง 5–7 ผล ติดผลดกเต็มต้นตลอดทั้งปี ผลเป็นสีเหลืองตั้งแต่ผลเล็กจนกระทั่งผลแก่สุกสวยงามน่าชมยิ่ง เมล็ดลีบบาง เนื้อเยอะ รสชาติหวานหอม ไม่มีเสี้ยน รับประทานอร่อยมาก ตามที่กล่าวข้างต้น ขยายพันธุ์ทั่วไปด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และเสียบยอด

ปัจจุบัน “มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” มีกิ่งพันธุ์ขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 17 แผง “นายดาบสมพร” ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกเพื่อเก็บผลรับประทานในครัวเรือน หรือปลูกเพื่อเก็บผลขาย ขุดหลุมกว้างหนึ่งฟุต ลึกเท่ากับปากถุงดำของกิ่งตอนหรือปากกระถาง จากนั้นนำต้นลงปลูกโดยรองก้นหลุม
ด้วยปุ๋ยคอกกลบหน้าดินให้แน่น รดน้ำพอชุ่มเช้าเย็น พร้อมบำรุงปุ๋ยสม่ำเสมอเดือนละครั้ง เมื่อต้นโตมีดอกและติดผลจะคุ้มค่ามากครับ

ข้อมูลจาก thairath.co.th

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา