หนุนตั้งกลุ่มปลูก ข่าเหลือง ตลาดไม่อั้น ทำเงินช่วงแล้ง


"ข่า" เป็นพืชสมุนไพรอีกชนิดที่คนไทยนำมาใช้ประโยชน์ ทั้งเป็นเครื่องเทศปรุงแต่งกลิ่นและรสอาหาร เป็นส่วนประกอบเครื่องยาสมุนไพร ที่มีสรรพคุณขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับเสมหะ เป็นวัตถุดิบหลักในเครื่องแกงหลากชนิดที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น เหตุนี้ ผศ.ไกรเลิศ ทวีกุล คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงหนุนเกษตรกรปลูก ด้วยมองว่ามูลค่าการตลาดสูง ลงทุนน้อย ใช้พื้นที่นาปลูกได้ช่วงว่างเว้นจากการทำนา

                    ผศ.ไกรเลิศ กล่าวว่า ตลาดรับซื้อข่าแหล่งใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น เฉพาะปี 2557 มีความต้องการข่าเหลืองกว่า 1,700 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 53 ล้านบาทต่อปี ราคาขายส่วนใหญ่เป็นแบบเหมาสวนในราคา 1 แสนบาทต่อไร่ จากข้อมูลความต้องการของตลาดตรงนี้ ผศ.ไกรเลิศ จึงคิดเป็นโมเดลการส่งเสริมเกษตรกรปลูกข่าเหลืองให้เป็นรูปธรรม

                    "ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่ให้ความสนใจมากนัก เพราะถือเป็นพืชใกล้ตัว ไม่รู้ว่าปลูกแล้วจะขายที่ไหน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกร จึงคิดโมเดลส่งเสริมการปลูกที่มีส่วนสำคัญคือตลาด เกษตรกร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร และแหล่งเงินทุน หลังสำรวจแล้วพบว่าตลาดต้องการข่าเหลืองกว่า 1,700 ตัน คิดเป็นพื้นที่ปลูก 400 ไร่ แต่ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกเพียง 60 ไร่ จึงรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปเครือข่ายปลูกข่าเหลือง เพื่อวางแผนการปลูกไม่ให้ข่าล้นตลาด”

                    สำหรับการส่งเสริมด้านวิชาการนั้น ผศ.ไกรเลิศ แจงว่า จะให้ความรู้ในการปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิต เกษตรกรต้องรู้จักข่าเหลืองว่าเป็นพืชที่ชอบดินโปร่ง ร่วนซุย ขึ้นได้ดีในพื้นที่ดอน ไม่ชอบน้ำท่วมขัง การเตรียมพื้นที่เพาะปลูกเริ่มจากเตรียมดิน หากเป็นดินร่วนซุยให้ไถกลบวัชพืช ปรับหน้าดิน หากเป็นดินเหนียวต้องไถ 2 รอบ พื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึงไม่ต้องยกแปลงปลูก หากน้ำท่วมถึงต้องยกแปลงปลูกสูง 30-50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 100-120 เซนติเมตร ระหว่างต้น 80-100 เซนติเมตร ผสมปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกลงในพื้นที่ปลูก ส่วนท่อนพันธุ์ เลือกที่แก่จัดอายุปลูก 13 เดือน ต้องมีรากติดมาด้วย ปลูกได้ตลอดทั้งปี เหมาะปลูกในฤดูฝน หากปลูกช่วงฤดูร้อนเกษตรกรต้องรดน้ำ

                    สำหรับระยะการเก็บเกี่ยวไม่เกิน 10 เดือน ซึ่งช่วงนี้การแตกกอของข่าเหลืองมีความสมบูรณ์ จะทำให้เกษตรกรขายได้ราคาสูง ที่ผ่านมามีเกษตรกร นักธุรกิจ ผู้สนใจเดินทางมาร่วมรับฟัง พร้อมกับมีข้อซักถามทั้งเรื่องการตลาด ปัญหาที่พบในการปลูก นอกจากนี้ มีสถาบันการเงินให้ความสนใจการปลูกข่าเหลือง เพื่อจะสนับสนุนเกษตรกรที่เป็นลูกค้าได้กู้เงินนำไปลงทุน ทั้งนี้ เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่แก้ปัญหาการปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้งด้วย

                    "ในอนาคตวางแผนเปิดตลาดข่าเหลืองส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย เพราะมีความต้องการเป็นจำนวนมาก ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเส้นทางการทำตลาดส่งออก นอกจากนี้ยังเพิ่มมูลค่าข่าเหลือง โดยการนำไปอบแห้งส่งออกไปยังร้านอาหารในต่างประเทศ รวมถึงการขอความร่วมมือจากนักวิจัยในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการพัฒนาทำเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของข่าเหลืองด้วย"

                    อย่างไรก็ตาม ผศ.ไกรเลิศ แจงว่า พร้อมกันนี้ยังมีการเตรียมความพร้อมที่จะยกระดับการปลูกข่าเหลืองแบบอินทรีย์ให้เกษตรกรนำไปแปรรูปเพื่อการส่งออก โดยเน้นการปลูกตรงตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือจีเอพี และได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับการผลิตให้เกษตรกรเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ไปพร้อมกันด้วย

จาก komchadluek.net

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา