ดินดี ที่เหมาะสมในทางเกษตร คือ? หมายความว่า?


คำถาม: ผมอยากทราบว่า ดินที่ดีที่เหมาะกับการทำเกษตรกรรมอย่างมาก ต้องมีลักษณะอย่างไรครับ

คำตอบ: เกณฑ์การประเมินว่าดินที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชของเราหรือไม่นั้น จะต้องดูที่ลักษณะและคุณสมบัติที่สำคัญของดินทางการเกษตร ประกอบด้วย สภาพของดินในแต่ละพื้นที่นั้น มีความแตกต่างกันไปตามปัจจัยในการสร้างตัวของดิน เราต้องเรียนรู้และรู้จักดินเบื้องต้น ลักษณะและสมบัติของดิน สีของดิน เนื้อดิน โครงสร้างของดิน ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน และความลึกของดิน สิ่งเหล่านี้ เป็นเกณฑ์การประเมินว่าดินมีความเหมาะสมกับการเกษตรหรือไม่

ดินดี ที่เหมาะสมในทางการเกษตร เป็นดินที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกพืช มีปริมาณน้ำและแร่ธาตุอาหารเพียงพอ และให้ผลผลิตได้ดี มักมีหน้าดินสีคล้ำหนา มีอินทรียวัตถุมาก ไม่มีสารที่เป็นพิษต่อพืช เนื้อดินร่วนซุย มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินใกล้ความเป็นกลาง คือมีค่าพีเอช ประมาณ 5.5 ถึง 7.0 และไม่มีชั้นดาน หรือชั้นหินที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของรากพืช

ดินในกลุ่มดินร่วนนี้ เป็นดินที่มีอนุภาคขนาดทราย ทรายแป้ง และดินเหนียวในปริมาณใกล้เคียงกัน เนื้อดินละเอียดนุ่มมือ จับกันเป็นก้อนแข็งพอประมาณ สภาพดินชื้น มีความยึดหยุ่น แต่เมื่อกำดินให้แน่นในฝ่ามือแล้วคลายออก ดินจะจับกันเป็นก้อนและไม่แตกออกจากกัน ไถพรวนง่าย ระบายน้ำได้ดี อากาศถ่ายเทได้ดี และมีความอุดมสมบูรณ์สูง

อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชต้องคำนึงถึงชนิดของพืชที่ต้องการปลูกในบริเวณนั้นด้วย เพราะพืชแต่ละชนิดมีความต้องการสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน เช่น ข้าว เป็นพืชชอบน้ำ ดินจะต้องเป็นที่ลุ่ม เนื้อดินไม่เหนียวหรือร่วนเกินไป สามารถขังน้ำได้ มีความง่ายในการไถเตรียมดินพอควร ดินที่ดีจะไม่มีกลิ่นเหม็นของกำมะถัน หรือกลิ่นเหม็นอย่างอื่นๆ ถ้าเป็นพืชไร่และไม้ผล ควรปลูกบนที่ดอน มีหน้าดินหนา เนื้อดินร่วน ความสามารถในการอุ้มน้ำดี ระบายน้ำได้ดี ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน 6.5-7.0 มีความอุดมสมบูรณ์ของดิน พวกไม้ยืนต้นจะมีระบบรากลึก ต้องการดินที่มีความลึกมากกว่าพืชไร่ และควรมีแหล่งน้ำใกล้พอที่จะนำมาใช้ได้เมื่อจำเป็น ไม่เป็นที่ลุ่ม เพราะจะเสี่ยงกับน้ำแช่ขังและน้ำท่วม

จาก naewna.com

http://www.farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=02227

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา