เทคนิคปลูกมันสำปะหลังทุนต่ำ ทุกคนทำได้ ลดต้นทุนเพิ่มรายได้


                            การเกษตรในประเทศไทยต้องยอมรับว่าต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงเมื่อเทียบประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน อย่างมันสำปะหลัง เกษตรกรต้องใช้เงินต้นทุนถึงไร่ละ 4,200-4,550 บาท เฉลี่ย กก.ละ 1.20-1.30 บาท ทำให้สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร ต้องกำหนดแนวทางการลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล

                            นายกอบเกียรติ ไพศาลเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชไร่ สำนักผู้เชี่ยวชาญกรมวิชาการเกษตร แนะแนวทางการลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลังว่า เบื้องต้นเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้โดยปลูกมันสำปะหลังตามเขตโซนนิ่งที่เหมาะสมต่อการปลูกมันสำปะหลัง จากนั้นเลือกใช้พันธุ์ดีที่เหมาะสมกับเนื้อดินและสภาพแวดล้อมเฉพาะพื้นที่ อาทิ ดินทราย-ทรายปนร่วนควรใช้พันธุ์ระยอง72, ระยอง 7, ระยอง 9, ระยอง 90, ห้วยบง 60 และเกษตรศาสตร์ 50 ดินร่วนปนเหนียวควรใช้พันธุ์ระยอง 5, ระยอง 7, ห้วยบง 80 และระยอง 11 ดินด่างควรใช้พันธุ์ระยอง 11 และระยอง 5 จะสามารถเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

                            "เกษตรกรจำเป็นต้องเตรียมท่อนพันธุ์ที่มีคุณภาพดี โดยใช้ต้นพันธุ์อายุ 8-12 เดือน ที่สดใหม่และตรงตามพันธุ์ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม.ขึ้นไป หากปลูกต้นฤดูฝน ท่อนพันธุ์ควรมีความยาว 20 ซม.ฤดูแล้ง 25 ซม. ซึ่งจะทำให้มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงและแข่งขันกับวัชพืชได้ดี ที่สำคัญควรใช้พันธุ์จากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของโรคและแมลง เช่น เพลี้ยแป้ง โรคหัวเน่า และโรคพุ่มแจ้ หากมีการระบาดของโรคหรือแมลง ควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีก่อนปลูก จะสามารถลดการระบาด ช่วยลดต้นทุนการจัดการ และรักษาระดับผลผลิตที่อาจลดลงถึง 30%" นายกอบเกียรติ กล่าว

                            ส่วนฤดูปลูกนับว่ามีความสำคัญต่อการลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง ซึ่งเกษตรกรสามารถปลูกได้ 2 ช่วง คือ ต้นฝน (เดือนมี.ค.-พ.ค.) และปลายฝน (เดือนก.ย.-พ.ย.) หากปลูกในช่วงต้นฤดูฝนควรยกร่องปลูกเพื่อช่วยระบายน้ำ ถ้าปลูกตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรจะให้ผลผลิตสูง ทั้งยังลดความเสี่ยงในการงอก ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาหัวมันเน่า และลดจำนวนครั้งในการกำจัดวัชพืชด้วย และเกษตรกรควรใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานคนที่มีค่าจ้างแพงขึ้น

                            นอกจากนี้เกษตรกรควรเตรียมดินให้ถูกวิธีจะสามารถลดต้นทุนในการเตรียมดินได้ โดยไถดินอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยครั้งแรกไถลึกด้วยผาน 3 ตากดินแล้วพรวนด้วยผาน 7 อีกครั้ง กรณีพื้นลาดเทควรยกร่องขวางแนวลาดเอียง ไม่ควรไถเตรียมดินขณะที่ดินแฉะหรือแห้งมาก เกษตรกรต้องไถระเบิดดินดานทุก 3 หรือ 5 ปี ก่อนไถต้องตรวจวัดความแน่นดินตามเกณฑ์ สำหรับการปลูกมันสำปะหลังไม่ควรปลูกถี่เกินไป โดยปลูกในอัตรา 1,600-3,200 ต้นต่อไร่ ระยะปลูก 1x1 ถึง 0.6x0.8 เมตร ขึ้นกับพันธุ์ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และความสะดวกในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะไม่สิ้นเปลืองแรงงานและท่อนพันธุ์ การระบาดของโรคและแมลงจะน้อยลง เพราะพุ่มใบจะชิดกันพอดี ทั้งยังช่วยลดต้นทุนและลดการสูญเสียผลผลิตได้ หากปลูกชิดจะทำให้ผลผลิตลดลงถึง 28% และรายได้ลดลง 30%

                            ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชไร่ แนะนำอีกว่า การกำจัดวัชพืชถือเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะช่วงวิกฤติ 1-4 เดือนแรก โดยใช้แรงงานคนหรือสารไดยูรอน หรือเมโทลาคอร์พ่นหลังปลูกเสร็จเมื่อดินมีความชื้น และเมื่อวัชพืชงอกพ่นด้วยสารพาราควอท หรือไกลโฟเสทตามอัตราและคำแนะนำที่ระบุบนฉลาก ขณะที่การใส่ปุ๋ยเกษตรกรควรใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือใช้ปุ๋ยร่วมกับวัสดุอินทรีย์ และควรมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับปรุงดินในอัตรา 0.5-1 ตันต่อไร่ เป็นต้น การเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลังในช่วงอายุที่เหมาะสม คือ 12 เดือน

                            อย่างไรก็ตาม หากสงสัยเกี่ยวกับแนวทางการลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร

จาก komchadluek.net

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา