พัฒนาที่ดินเผย สูตรปุ๋ยหมักคุณภาพสูง


นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เผยว่า ที่ดินทำกินของเกษตรกรไทย ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาขาดความสมบูรณ์ ดินเสื่อม การแก้ปัญหาด้วยวิธีเอาอินทรียวัตถุใส่ลงดินนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ในวันเดียว ต้องใช้ระยะเวลา ความอดทน อย่างค่อยเป็นค่อยไป และต้องปรับปรุงบำรุงดินกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจึงจะได้ผล และวิธีที่จะลดต้นทุนการผลิตได้จริง ชาวไร่ ชาวนา ต้องทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ไม่ควรซื้อปุ๋ยอินทรีย์มาใช้ เพราะอาจจะได้ปุ๋ยไม่มีคุณภาพ ได้ธาตุอาหารไม่คุ้มค่า แต่เกษตรกรต้องจ่ายในราคาที่แพงกว่าปุ๋ยเคมี

“การทำปุ๋ยหมัก วัตถุดิบที่นำมาหมัก แม้แต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้ว มักจะเป็นผักตบชวา มูลสัตว์ ใบไม้เศษพืช ดินขุยไผ่ เอามากองรวมหมักให้ย่อยสลาย การเอาปุ๋ยหมักใส่ลงดิน จะช่วยทำให้หน้าดินร่วนซุยได้เท่านั้นเอง เพราะปุ๋ยหมักชนิดนี้จะมีธาตุอาหารหลักสำหรับพืชน้อยมาก เพื่อให้เกษตรกรได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพสูง มีธาตุอาหารที่เพียงพอ กรมพัฒนาที่ดินจึงได้คิดสูตรการทำปุ๋ยหมักคุณภาพสูงมาส่งเสริมชาวบ้าน”
อธิบดีกรมที่ดินเผยถึงวิธีทำปุ๋ยหมักสูตรมีธาตุอาหารครบว่า หลังจากเกษตรกรทำปุ๋ยหมักเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนนำไปใช้ให้เติมธาตุอาหารหลัก N (ไนโตรเจน) ซึ่งได้มาจากพืชตระกูลถั่ว ด้วยการนำกากถั่วเหลืองมาผสมไปในปุ๋ยหมัก สำหรับธาตุอาหารหลัก P (ฟอสฟอรัส) สามารถนำหินฟอสเฟส มาผสมลงไปในปุ๋ยหมัก ส่วนธาตุอาหารหลัก K (โปแตสเซียม) เกษตรกรสามารถหาซื้อแร่โปรแตสได้จากร้านค้าเคมีภัณฑ์ทางเกษตรมาผสมลงไปในปุ๋ยหมักได้


“แต่ถ้าไม่สะดวกที่จะหาธาตุ N-P-K สามารถใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอมาใส่แทนได้ ปุ๋ยหมัก 1 ตัน ใช้ปุ๋ยเคมีแค่ 1 กก. หมักต่ออีก 1-2 สัปดาห์ เกษตรกรสามารถเอาไปใช้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องนำดินไปตรวจคุณภาพ เพราะพืชต้องการแร่ธาตุ 3 ตัวนี้เป็นหลักอยู่แล้ว ข้อดีของการเติมธาตุอาหาร N-P-K ลงในปุ๋ยหมัก เมื่อนำไปใส่บำรุงดิน ปุ๋ยหมักจะทำหน้าที่ค่อยๆปล่อยธาตุอาหารให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ และปุ๋ยหมักยังเก็บกัก N-P-K ไม่ให้ระเหยไปได้เร็ว ซึ่งต่างจากการใช้ปุ๋ยเคมีโดยตรง ที่หว่านไปแล้วพืชนำไปใช้ได้ไม่เต็มร้อย เพราะปุ๋ยจะละลายไหลหายไปกับน้ำฝนอย่างรวดเร็ว” นายอภิชาต กล่าว.


จาก thairath.co.th

http://www.farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=02210

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา