ควบคุมไรแดงศัตรูกุหลาบด้วยชีววิธี


ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการใช้ไรตัวห้ำควบคุมไรศัตรูกุหลาบอย่างยั่งยืน เริ่มต้นจากการอนุรักษ์ไรตัวห้ำศัตรูธรรมชาติที่สำคัญให้มีจำนวนมากพอที่จะรักษาสมดุลธรรมชาติ

ไรแดงเป็นศัตรูของกุหลาบ ที่สร้างความเสียหายมายาวนาน โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง อากาศแห้งจะพบการแพร่ระบาดในปริมาณมาก ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรจะเลือกวิธีการป้องกันด้วยวิธีที่สะดวกและรวดเร็วคือการใช้สารเคมีฉีดพ่น แต่ด้วยวงจรชีวิตไรแดงสั้น ตั้งแต่ช่วงฟักไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยเพียงแค่ 8 วัน ทำให้เกิดการพัฒนาปรับตัวสร้างภูมิต้านทานต่อสารเคมีได้อย่างรวดเร็วกว่าแมลงชนิดอื่น จึงทำให้ไม่มีสารเคมีชนิดใดที่จะสามารถป้องกันหรือกำจัดไรแดงได้


น.ส.มานิตา คงชื่นสิน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านศัตรูพืช รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร บอกว่า ไรแดงที่เป็นศัตรูพืชนั้นจะมีไรตัวห้ำ ซึ่งเป็นศัตรูธรรมชาติ ที่ไม่ดูดกินน้ำเลี้ยงของพืช แต่กินไรศัตรูพืชเป็นอาหาร เรียกว่าเป็นผู้กำจัดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่การทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ที่ใช้สารเคมีมากเกินไป และมีสารเคมีบางชนิดไปทำลายศัตรูธรรมชาติด้วย ทำให้เสียสมดุล ไรศัตรูพืชจึงมีมากกว่าไรตัวห้ำศัตรูธรรมชาติ ดังนั้น การใช้ไรตัวห้ำควบคุมไรศัตรูพืชในกุหลาบ จึงเป็นการควบคุมไรศัตรูพืชโดยชีววิธี ที่มีประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืนมากที่สุด

กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กลุ่มงานวิจัยไรและแมงมุม กลุ่มกีฏและสัตววิทยา ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการใช้ไรตัวห้ำควบคุมไรศัตรูกุหลาบอย่างยั่งยืน เริ่มต้นจากการอนุรักษ์ไรตัวห้ำศัตรูธรรมชาติที่สำคัญให้มีจำนวนมากพอที่จะรักษาสมดุลธรรมชาติ ซึ่งวิธีเพาะและขยายพันธุ์ไรตัวห้ำจะใช้ไรแดงหม่อนเป็นเหยื่อ โดยปลูกต้นถั่ว เช่น ถั่วดำ ถั่วเขียว ในถุงเพาะชำจนมีอายุ 2 สัปดาห์ แล้วจึงนำไรแดงหม่อนพ่อแม่พันธุ์มาเลี้ยงขยายบนต้นถั่ว ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ ให้ไรแดงหม่อนเพิ่มปริมาณมากเต็มใบถั่ว จากนั้นจึงปล่อยพ่อแม่พันธุ์ไรตัวห้ำลงบนต้นถั่ว ในอัตรา 1: 20-50 (ไรตัวห้ำ : ไรแดงหม่อน) ซึ่งไรตัวห้ำจะกินไรแดงหม่อนและขยายพันธุ์เพิ่มประชากรบนต้นถั่ว เมื่อพบว่าไรตัวห้ำกินเหยื่อใกล้หมดแล้วให้รีบตัดใบถั่วที่มีไรตัวห้ำบรรจุลงกระบอกกระดาษปิดฝาให้แน่น เพื่อจะนำไรตัวห้ำไปใช้ในแปลงกุหลาบ ก็เพียงแค่นำใบถั่วที่มีไรตัวห้ำไปวางลงบนใบหรือลำต้นกุหลาบที่มีไรแดง ไรตัวห้ำก็จะกำจัดไรศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ


ทั้งนี้ ผลการทดลองในแปลงกุหลาบของเกษตรกร ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยปล่อยไรตัวห้ำในอัตรา 9-10 ตัวต่อต้น ทุก 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้ไรตัวห้ำเพิ่มประชากรสามารถตั้งรกรากอาศัยในพืชที่ปลูกได้อย่างถาวร หลังจากนั้นเมื่อเกิดความสมดุลก็ลดการปล่อยไรตัวห้ำลงเหลือ 3-4 ตัวต่อต้น ทุก 1 เดือน ผลการศึกษาพบว่าไรตัวห้ำสามารถควบคุมไรศัตรูกุหลาบ ทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดไรได้อย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรรายนี้ได้พัฒนาการผลิตไรตัวห้ำไว้ใช้เองในแปลง และสามารถเป็นแปลงต้นแบบในการควบคุมไรศัตรูกุหลาบแบบชีววิธีอย่างมีประสิทธิภาพ อีกด้วย

ที่สำคัญจากการเก็บสถิติต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าสารเคมีกำจัดไรในแปลงกุหลาบของเกษตรกรต้นแบบ พบว่าพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ตั้งแต่ปี 2548 มีค่าสารเคมีกำจัดไรประมาณ 28,070 บาทต่อเดือน และเพิ่มสูงขึ้นเป็น 37,850 บาท ในปี 2550 แต่เมื่อเริ่มใช้ไรตัวห้ำตั้งแต่ปลายปี 2550 เป็นต้นมา สามารถลดการใช้สารเคมีกำจัดไรลงเหลือเพียง 4,580 บาทภายในปี 2553 และมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตที่ได้มีปริมาณเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้นด้วย

เกษตรกรที่สนใจสามารถการแก้ปัญหาไรแดงในแปลงกุหลาบติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-3053, 0-2579-4128 ในวันและเวลาราชการ.“

ข้อมูลจาก  : www.dailynews.co.th

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา