ถอดบทเรียน สู่การแก้ ปัญหาดินเค็ม อย่างเป็นระบบ


ดินเค็มเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช และยังส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เนื่องจากดินเค็มทำให้โครงสร้างของดินเสีย ดินแน่นทึบ และความเค็มแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำอื่นๆ กระทบโดยตรงต่อพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ปลูกมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นางปราณี สีหบัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวางระบบการพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาดินเค็มเป็นบริเวณกว้าง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 17.8 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของพื้นที่เพาะปลูกพืชทั้งภาค ซึ่งสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดินเค็ม จึงได้เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาดินเค็ม พื้นที่ที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดขอนแก่น ดังนั้นทางสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 จึงได้เลือกพื้นที่ของตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 768,000 ไร่ เป็นพื้นที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาดินเค็มอย่างเป็นระบบ เนื่องด้วยพื้นที่นี้ประสบปัญหาดินเค็มอย่างรุนแรง เกษตรกรไม่สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกได้ นอกจากนี้ยังมีน้ำเค็มจากพื้นที่ดังกล่าวไหลลงสู่พื้นที่ลุ่มปะปนไปกับแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทำให้พื้นที่นาและแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีน้ำเค็มไหลผ่านกลายสภาพเป็นดินเค็ม



สำหรับการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม มีการนำระบบเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดินเข้าช่วยแก้ไขปัญหาซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 2 ระบบ คือ ระบบวิศวกรรมและระบบพืช ซึ่งในแต่ละระบบมีความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ดินเค็มในระดับความรุนแรงของดินเค็มที่แตกต่างกันไป เช่น ระบบวิศวกรรมในพื้นที่ดินเค็มจัดนั้น จะมีการสร้างระบบระบายน้ำใต้ดิน (Sub drain) โดยฝังท่อไว้ใต้ดินเพื่อล้างดินเกลือในพื้นที่ดินเค็ม ส่วนบริเวณผิวดินจะมีการปรับให้เป็นกระทงนาเพื่อให้เกษตรกรสามารถขังน้ำไว้ในกระทงนาจากนั้นน้ำจะซึมลงไปในชั้นดินข้างล่าง และจะไหลไปรวมในท่อที่ฝังไว้ใต้ดินและระบายออกทางท่อสู่คลองหลัก เมื่อมีการล้างดินเป็นเวลา 1 ปี ความเค็มของดินจะลดลงประมาณ 20-30% เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 เกษตรกรจึงสามารถปลูกข้าวบนกระทงนาได้ ส่วนระบบพืชในพื้นที่ดินเค็มจัด ส่งเสริมการปลูกหญ้าชอบเกลือ (หญ้าดิ๊กซี่) หญ้าพันธุ์พื้นเมือง และกระถินออสเตรเลีย ส่งเสริมปลูกพืชปุ๋ยสด บนคันนา เช่น ถั่วพร้า ปลูกไม้ทนเค็มบนคันนา และขอบทางลำเลียง เช่น ยูคาลิปตัส และ กระถินออสเตรเลีย การส่งเสริมการปลูกโสนอัฟริกัน เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ขายให้กับทางกรมพัฒนาที่ดิน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการแก้ไขปัญหาดินเค็มได้หลายวิธี แต่ผลผลิตข้าวยังค่อนข้างต่ำ แต่ก็บ่งชี้ได้ว่าหากมีการจัดการดินเค็มที่ดี ถูกต้อง และเหมาะสม เกษตรกรก็สามารถใช้ประโยชน์จากดินเค็มได้ปกติ ดีกว่าต้องปล่อยที่ดินให้รกร้างโดยไม่เกิดประโยชน์ เพราะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ปัญหาดินเค็มลุกลามขยายวงกว้างมากขึ้นไปอีก



นางระเบียบ สละ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม เล่าว่า พื้นที่ของตำบลเมืองเพีย เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาดินเค็ม ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินทำการเกษตรได้ เกษตรกรส่วนใหญ่จำต้องทิ้งพื้นที่หลายไร่ให้ร้าง เพื่อเข้าไปหางานในกรุงเทพฯ เพื่อเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว บางรายก็ขายที่ดินให้กับนายทุนไปทำนาเกลือ จนกระทั่งปี 2540 สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ได้เข้ามาให้ความรู้เกษตรกรเพื่อที่จะพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม จึงได้มีการรวมตัวกันของเกษตรกร เจ้าหน้าที่เข้ามาส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และนำต้นกระถินออสเตรเลีย (อาคาเซีย) ไปปลูกตามแปลงนา ทำให้มีพืชขึ้นในแปลงนาบ้าง จากนั้นก็นำเมล็ดพันธุ์โสนอัฟริกันไปหว่านแล้วไถกลบ ดินมีสภาพดีขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาปรับปรุงดินถึง 4 ปี พอเข้าปีที่ 5 ก็ปลูกข้าวได้ผลผลิตประมาณ 100 กระสอบ จากนั้นมาถึงปี 2551 ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 400 กระสอบ และก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อย มองย้อนกลับไปเมื่อในอดีตจากพื้นที่ดินเค็มที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้เลย พอได้รับการปรับปรุงฟื้นฟูก็สามารถปลูกข้าวได้ ทุกวันนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านดีขึ้น ผู้คนที่เคยออกไปทำงานในกรุงเทพฯ ก็ได้กลับคืนถิ่นฐานบ้านเกิดมากขึ้น

ผลจากการแก้ไขปัญหาพื้นที่ดินเค็มในตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น จนประสบความสำเร็จ จึงได้กลายมาเป็นทุ่งเมืองเพียโมเดล ที่กรมพัฒนาที่ดินนำมาเป็นรูปแบบการขยายผลในพื้นที่ที่มีปัญหาดินเค็มในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่อง

จาก naewna.com

http://www.farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=02221

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา