เตรียมเปิดเวทีวิชาการประมงปี 58


ดันงานวิจัยสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างรับผิดชอบ

นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นการทำประมงอย่างรับผิดชอบอย่างมาก โดยได้มีนโยบายและมาตรการต่างๆ มุ่งเน้นสนับสนุนและผลักดันให้สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งการออกมาตรการทางกฎหมาย การสร้างความเข้าใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การในบริหารจัดการ รวมทั้งยังได้สนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรประมงอย่างรับผิดชอบอีกด้วย

โดยในการจัดการประชุมวิชาการประมง ประจำปี 2558 ในระหว่างวันที่ 9-10 มิถุนายน 2558 ที่ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมประมงเตรียมจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “วิจัยประมงไทย มุ่งสู่การใช้ทรัพยากรอย่างรับผิดชอบ” เพื่อเปิดเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้ และระดมความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพงานวิจัยด้านการประมงสาขาต่างๆ ให้มีการนำแนวคิดการใช้ทรัพยากรประมงอย่างรับผิดชอบ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาภาคการประมงให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

โดยภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิชาการประกอบด้วย 9 สาขา ได้แก่ สาขาการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมประมง การประมงทะเล อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง อาหารสัตว์น้ำ โรคสัตว์น้ำ
เศรษฐกิจ สังคม และต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “สกัดความคิดพิชิตทุน สวก.” โดย นายพีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร การอภิปรายพิเศษ ในหัวข้อ “การแก้ไขปัญหา IUU” โดย นางสาววราภรณ์ พรหมพจน์ รองอธิบดีกรมประมง และคณะ รวมทั้งการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจอีกกว่า 44 เรื่อง เป็นการนำเสนอผลงานภาคบรรยาย 28 เรื่อง และเป็นโปสเตอร์อีก 16 เรื่อง จากหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาชั้นนำ โดยมีหัวข้องานวิจัยที่น่าสนใจ อาทิ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจากสาหร่ายผักกาดทะเล ซึ่งเป็นการผลิตผงสาหร่ายผักกาดทะเลเพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพโดยเน้นประโยชน์และคุณค่าทางอาหารที่ผู้บริโภคให้การยอมรับ, ผลของ Bacillus subtilis, B. megaterium และ B.licheniformis ในผลิตภัณฑ์หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 ต่อเชื้อ Vibrio
parahaemolyticus สายพันธุ์ก่อโรค EMS/AHPND, การพัฒนาเทคนิคการเติมออกซิเจนด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์จากถังออกซิเจนเหลวกับระบบตรวจติดตามและจัดการออกซิเจนอัตโนมัติในฟาร์มเลี้ยงปลาทะเลความหนาแน่นสูง โดยระบบดังกล่าวสามารถตรวจติดตามปริมาณออกซิเจนละลายน้ำในบ่อเลี้ยงและบ่อบำบัดน้ำได้ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการหรือนักลงทุน ในการตัดสินใจทำฟาร์มเลี้ยงปลาทะเลความหนาแน่นสูงเชิงพาณิชย์ต่อไป เป็นต้น


ทั้งนี้ นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ เกษตรกร และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการประชุม สามารถสอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองผู้เชี่ยวชาญ กรมประมง โทรศัพท์ 0-2940-6527 ได้ในวันและเวลาราชการ

ข้อมูลจาก naewna.com/local/160161

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา